ไม่ใช่เพียงประชากรในกลุ่มเด็กที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง แต่การฉีดวัคซีนจำเป็นต่อทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่" แม้ปัจจุบันยังจัดอยู่ในกลุ่ม "วัคซีนทางเลือก" แต่เมื่อเทียบกับการสะดุดตัวทางการศึกษา และเศรษฐกิจของทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งอัตราการป่วย เสียชีวิต และงบประมาณรักษาพยาบาลที่ประเทศชาติต้องสูญเสียเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่ควรมองข้าม
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวย้ำเจตนารมณ์ของการเป็นโรงพยาบาลรัฐเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อให้ได้รับบริการสุขภาพที่ดีที่สุด โดยในส่วนของศูนย์วัคซีน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดบริการ "วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แบบ High Dose" ที่เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันได้มากถึงกว่าร้อยละ 40
โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร มองว่าการมอบบริการที่ดีที่สุด เป็นเรื่องที่ควรค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเพื่อประชากรสูงวัย เช่น ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมมอบสิ่งที่ดีสุด โดยไม่ทำให้ผู้รับบริการเกิดภาระต่อค่าใช้จ่ายที่มากเกินจริง
ซึ่ง "วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แบบ High Dose" ได้รับการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการเพิ่มปริมาณแอนติเจน ที่จะส่งผลต่อการสร้างแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย หากผู้สูงวัยซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษได้รับวัคซีนชนิดดังกล่าว จะทำให้ไม่เกิดอาการรุนแรงเมื่อต้องสัมผัสกับเชื้อก่อโรค
และยังมี "วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์" ที่จัดไว้สำหรับบริการประชาชนทั่วไป ซึ่งควรได้รับอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่เริ่มมีการระบาด และได้มีการประกาศสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และหากสัมผัสเชื้ออาจส่งผลต่อการเกิดอาการอื่น เช่น ปอดบวม ให้มีความรุนแรงด้วยต่อไปได้
อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ได้กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า มีข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยโรคกิลแลง - บาร์เร (GBS - Guillan Barre Syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากอาจมีภูมิต้านทานบางชนิดภายในร่างกายส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อแอนติเจน หรือสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดเข้าไป จนอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อในบางส่วนเป็นอัมพาตได้
ติดตามรายละเอียดการให้บริการของ ศูนย์วัคซีน ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่โทร. 0-2849-6600 ต่อ 2307, 1059
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit