นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงสถานการณ์และมาตรการดูแลสุขภาพจิตให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ. ได้ขับเคลื่อนมาตรการดูแลสุขภาพจิตประชาชนทุกกลุ่มวัย ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 สถาบันราชานุกูล สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และสถาบันกัลยาราชนครินทร์ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผู้ป่วยสุขภาพจิตที่ได้รับการติดตามดูแล ดังนี้ โรคจิตเภท 4,510 คน โรควิตกกังวล 1,653 คน โรคซึมเศร้า 1,489 คน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ต.ค. 66 - พ.ค. 67) โรคจิตเภท 5,217 คน โรควิตกกังวล 2,005 คน โรคซึมเศร้า 1,566 คน ขณะเดียวกันศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ได้ดำเนินมาตรการสุขภาพจิตเชิงรุกทุกช่วงวัย โดยคัดกรอง ประเมินสุขภาพจิต และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัย ในชุมชน สถานประกอบการ และโรงเรียน ส่วนมาตรการสุขภาพจิตเชิงรุกในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ได้เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตและจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียนโดยทีมสหวิชาชีพ พยาบาลอนามัยโรงเรียน นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น สำหรับบุคลากรสถานศึกษาในเดือน มี.ค. - เม.ย. 67 จำนวน 5 รุ่น ผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ข้าราชการครูและบุคลากรสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 109 แห่ง รวมถึงเฝ้าระวัง ป้องกัน และให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช โดยอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมค้นหา เฝ้าระวังผู้ที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต หรือจิตเวช กรณีพบความเสี่ยงจะส่งต่อ ไปยังบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา และ อสส. ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขเยี่ยมติดตามต่อเนื่องเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาและกลับสู่ชุมชน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit