นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัด กทม. ว่า สนพ. ได้หารือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อให้บริการ Teleconsult กับจิตแพทย์ในสถานพยาบาลอื่น ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสังกัดอื่น โดยนักจิตวิทยาและจิตวิทยาคลินิกที่มีอยู่จะเป็นผู้พูดคุยและให้คำปรึกษาเบื้องต้น ก่อนการพบจิตแพทย์ ขณะเดียวกันจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน Sati (สติ) และ DMIND ซึ่งจะรวมถึงกลุ่มอาการซึมเศร้าและโรคเครียด ปัจจุบันมีผู้รับบริการกว่า 1.8 แสนคน ผู้ป่วยบางคนสามารถรับการบำบัดเบื้องต้นได้ หากพบว่า ผู้ป่วยมีอาการในระดับเหลือง หรือแดง จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. จะขยายการให้บริการ ถึงแม้จะไม่สามารถขยาย Ward ได้โดยเร็ว แต่จะกั้นเป็นสัดส่วน เพื่อรองรับผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น รวมถึงการรับผู้ป่วยยาเสพติดด้วย อีกทั้งจะจ้างแพทย์ห้วงเวลา เพื่อประจำในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ที่มีบริการคลินิกจิตเวช มีจำนวน 9 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนคราภิบาล (โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร) โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน มีจิตแพทย์ 12 คน นักจิตวิทยา 15 คน ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล รวมถึงเมื่อพบผู้มีอาการทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน หรือผู้เสพยาเสพติดแล้วไม่สามารถส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัด กทม. อาจทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม กทม. ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของประชาชน จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น โดยจัดบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตแก่ประชาชนที่โรงพยาบาลของสำนักการแพทย์ กทม. และที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. สำนักอนามัย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่พร้อมจะเผชิญปัญหาในการดำเนินชีวิต เพื่อลดความเจ็บป่วยทั้งทางกายและจิตใจ และไม่แก้ไขปัญหาด้วยวิธีรุนแรง สำหรับบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตที่ กทม. จัดให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย (1) บริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง (2) เปิดให้บริการคลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง
ส่วนการให้บริการด้านจิตเวชของสำนักอนามัย กทม. ได้ตรวจประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง ในวันและเวลาราชการ กรณีประเมินแล้วพบอาการรุนแรง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จะนัดหมายเข้าคลินิกจิตเวชให้บริการตรวจรักษาจ่ายยาและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยจิตแพทย์ หรือส่งต่อโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชต่อไป นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเชิงป้องกัน สำนักอนามัย โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ได้จัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเฝ้าระวังประชาชนที่มีอาการซึมเศร้า โดยแจ้งผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อประเมินสุขภาพจิตและให้การช่วยเหลือ และพัฒนาระบบการประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองผ่าน QR code ซึ่งประชาชนจะทราบผลการประเมินและสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ พร้อมทั้งออกให้บริการหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อดูแลสุขภาพเชิงรุกในชุมชนและสถานประกอบการที่แจ้งเข้ามา รวมถึงให้ความรู้การประเมินโรคซึมเศร้า ให้คำปรึกษา ติดตามดูแลช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง และส่งต่อหากอาการไม่ดีขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าในอัตราที่พอเหมาะ พักผ่อนให้พอเพียง เลี่ยงพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่ทำงานให้สะอาดน่าอยู่ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางใจและทางกาย เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit