กทม. รุกเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ผลสุ่มตรวจสัตว์ปีกยังไม่พบรายงานเชื้อไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ

10 Jun 2024

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ เพื่อติดตามสถานการณ์และข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เฝ้าระวังโรคเชิงรุก และติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีก สนามชนไก่ สถานประกอบการที่เกี่ยวกับสัตว์ปีก และสถานที่ที่มีนกพิราบรวมฝูงกันจำนวนมาก รวมทั้งออกหน่วยเคลื่อนที่แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัตว์ปีกจากประชาชน ในกรณีพบสัตว์ปีกป่วยตายเป็นจำนวนมากและสงสัยการติดเชื้อไข้หวัดนก สนอ. จะประสานความร่วมมือสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพฯ และสำนักงานเขตลงพื้นที่สอบสวนควบคุมโรคทั้งในคน และสัตว์ กักกันโรค พ่นน้ำยาทำลายเชื้อโรค วางแผนการลดจำนวนสัตว์ปีกในพื้นที่พบโรค และสุ่มเก็บตัวอย่างจากสัตว์ปีกตรวจเชื้อโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้ ปัจจุบันจากผลการสุ่มตรวจตัวอย่างสัตว์ปีกยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ

กทม. รุกเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ผลสุ่มตรวจสัตว์ปีกยังไม่พบรายงานเชื้อไข้หวัดนกในพื้นที่กรุงเทพฯ

นอกจากนั้น ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ผู้ประกอบการ และตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตในพื้นที่กรุงเทพฯ หากพบว่า มีความเสี่ยง หรือความผิดปกติของสัตว์ปีกให้แจ้ง สนอ. หรือสำนักงานเขต และให้งดการนำสัตว์ปีกนั้นไปจำหน่ายจ่ายแจก นำไปประกอบอาหาร หรือรับประทาน กรณีจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกต้องสวมใส่ถุงมือป้องกัน และล้างมือให้สะอาดหลังการสัมผัสซากสัตว์ปีกทุกครั้ง หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ และไอ ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งว่า ทำงาน หรือใกล้ชิดกับสัตว์ปีก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย ห้ามนำสัตว์ปีกป่วยตายมาปรุงอาหาร รวมทั้งควรรับประทานเนื้อสัตว์ปีกและไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น สำหรับไข่ควรเลือกที่สดใหม่ และไม่มีมูลติดปนเปื้อนที่เปลือกไข่ หากพบผู้ป่วยจากการสัมผัสสัตว์ปีกให้แจ้งสายด่วน สนอ. โทร. 0 2203 2872 หรือสายด่วน กทม. 1555 ทันที

นายศรชัย โตวานิชกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กล่าวว่า สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครมีตลาดในความรับผิดชอบที่มีโซนการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงประเภทสัตว์ปีก 2 ตลาด คือ ตลาดธนบุรีและตลาดนัดมีนบุรี ซึ่งได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในโซนค้าสัตว์ปีกมีชีวิต โดยจัดเจ้าหน้าที่ของ สงต. ลงพื้นที่โซนการค้าสัตว์ปีกมีชีวิต เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ค้าในการระมัดระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ตรวจสอบการมีใบอนุญาตการจำหน่ายสัตว์เลี้ยง การตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และชันสูตรโรคสัตว์ อีกทั้งร่วมกับกรมปศุสัตว์ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกเป็นประจำ

HTML::image(