ภัยเงียบ! ที่มักพบบ่อยมาพร้อมกับฤดูฝน....ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก

10 Jun 2024

ในช่วงฤดูฝนนี้มักจะพบแมลงก้นกระดกเป็นจำนวนมาก สำหรับประเทศไทย แมลงชนิดนี้มักอาศัยอยู่บริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น หรือพื้นดินที่ชื้น เช่น กองมูลสัตว์ กองไม้ เป็นต้น ซึ่งบทความให้ความรู้โดย พญ.พัชสริยา โปร่งจันทึก แพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง แผนกสุขภาพผิว โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายสาเหตุ วิธีสังเกตอาการ วิธีการรักษา สำหรับนำไปสังเกตตนเองและคนรอบข้าง หากมีอาการดังกล่าวจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ภัยเงียบ! ที่มักพบบ่อยมาพร้อมกับฤดูฝน....ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก

สาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก

ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก หรือ Paederus dermatitis เป็นผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสโดนสารระคายเคืองจากแมลงก้นกระดก แมลงก้นกระดกหรือด้วงก้นกระดก (Rove Beetle, ชื่อวิทยาศาสตร์: Paederus fuscipes) เป็นแมลงขนาดเล็ก มีความยาวประมาณประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีสีดำ ปีกมีสีน้ำเงินเข้ม และส่วนท้องมีสีส้ม จุดเด่นของแมลงชนิดนี้ คือมักจะงอส่วนท้ายเมื่อเกาะอยู่กับพื้น ทำให้มีลักษณะเหมือนก้นกระดกขึ้นมา แมลงชนิดนี้พบบ่อยในช่วงฤดูฝน และชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้านเรือน

อาการผื่นผิวหนังอักเสบ

แมลงก้นกระดก สามารถปล่อยสารที่เรียกว่า พีเดอริน (Pederin) ออกมา โดยสารชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นกรดก่อให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนัง ทำให้มีอาการแสบร้อนหรือคันได้ และความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณของสารที่สัมผัสโดน อาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 8-12 ชั่วโมง ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาวตามการปัดด้วยมือ หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน (kissing lesion) ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน 2-3 วัน ในเวลาต่อมาผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายได้เองได้ภายใน 7-10 วัน ซึ่งเมื่อหายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำได้ แต่มักไม่เกิดเป็นแผลเป็น นอกจากจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิม ทำให้ผื่นหายช้าลง และอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้ สำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้

แนวทางการรักษาผื่นผิวหนังอักเสบ มีดังนี้

  • หากสัมผัสถูกตัวของแมลงก้นกระดกแล้ว ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง
  • สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วัน โดยไม่จำเป็นต้องทายาใด ๆ
  • แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยการรักษาผื่น คือการให้ครีมสเตียรอยด์ ทาในผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จนแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม และการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางราย

การป้องกันและคำแนะนำในการป้องกันแมลงก้นกระดก

  1. การหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมลง ถ้ามีแมลงมาเกาะตามตัวให้ใช้วิธีเป่าตัวแมลงให้หลุดออกไปเอง โดยไม่ต้องจับโดนตัวแมลงโดยตรง
  2. ควรปิดประตู หน้าต่างในบ้านและห้องนอนให้มิดชิด ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อไม่ให้แมลงเข้ามา
  3. ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน ผ้าห่ม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีแมลงซ่อนอยู่
  4. ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะแมลงก้นกระดกมักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้านในเวลากลางคืน

ทั้งนี้ คนไข้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับอาการภูมิแพ้ทางด้านผิวหนังอยู่แล้ว หากสัมผัสแมลงดังกล่าว แนะนำให้รีบเข้ามาพบแพทย์ทันที หรือกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis) สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ แผนกสุขภาพผิว โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 I Line: @navavej

HTML::image(