ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ชี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ต่อปี จากความกังวลด้านปัญหาหนี้ครัวเรือน และเล็งเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ยังคงเปิดพื้นที่ให้การปรับนโยบายการเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงยังต้องติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ทั้งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยซิตี้ยังคงคาดว่ากนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป วันที่ 12 มิถุนายน
นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2567 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปีนั้น ซิตี้แบงก์มองว่าเป็นการสะท้อนถึงความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัจจัยด้านภาระทางการเงินของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคครัวเรือน รวมถึงสัญญาณบวกจากภาคการท่องเที่ยว และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งมีทั้งปัจจัยด้านบวกและลบ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่นานมานี้ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต อย่างไรก็ตาม ซิตี้แบงก์เห็นว่ากนง. ยังคงเปิดพื้นที่สำหรับการปรับนโยบายการเงิน โดยระบุว่าต้องติดตามต้องความไม่แน่นอนของปัจจัยเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะการส่งออกซึ่งยังมีปัจจัยทางโครงสร้าง และปัจจัยความไม่แน่นอนของความต้องการจากคู่ค้า
ซิตี้แบงก์ยังคงคาดว่ากนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 12 มิถุนายน 2567 และลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สอง ในการประชุมวันที่ 21 สิงหาคม 2567 จากความเสี่ยงขาลงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงต้องติดตามว่าความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยของธปท. จะเป็นไปตามคาดหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากตัวเลขเศรษฐกิจไม่ย่ำแย่ลง ธปท.อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% ในปี 2567 โดยข้อมูลสำคัญที่ต้องติดตามคือ ตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 การเติบโตของการส่งออกและการจ้างงานรายเดือน รวมไปถึงรายละเอียดและความชัดเจนของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต
"สำหรับมุมมองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ สนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อจำกัด ซิตี้มองว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่มาตรการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และปี 2568 โดยอุปสงค์และการลงทุนยังจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเติบโตของรายได้บุคคลและแนวโน้มเศรษฐกิจ ซิตี้จึงคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงขาลงสำหรับการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีได้บ้าง (ซิตี้คาดการณ์ 3.0% ในปี 2567 และ 3.1% ในปี 2568) มากกว่าเป็นความเสี่ยงขาขึ้นสำหรับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้" นางสาวนลิน กล่าวสรุป
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทยหรือ www.citibank.co.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit