จาก "รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567" ที่จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)* พบว่า โลกเราต้องเผชิญ "ความเสี่ยง" รอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี (แยกย่อยออกมาได้ถึง 34 ประเด็น) โดยประเมินกันว่าความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้ว ความเสี่ยงจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความเสี่ยงจากการแบ่งขั้วทางสังคมและการเมือง ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว
หลายประเทศยังมีมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น เมื่อต้นปี 2567 สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกกฎหมาย Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) และยังอยู่ระหว่างจัดทำกฎหมาย Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและสอบทานการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพัฒนาการของกฎหมายเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนทั้งบริษัทขนาดใหญ่ใน EU บริษัทข้ามชาติ ตลอดจนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. จึงมุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา "ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน" และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มี ESG รวมถึงเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสและพัฒนาภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจแล้ว ยังช่วยให้สามารถตอบสนองต่อพัฒนาการด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และสร้างแรงดึงดูดต่อนักลงทุนที่ให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้ รวมทั้งสามารถสื่อสารการดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน โดยช่องทางหนึ่งที่สำคัญคือ การเปิดเผยในแบบ 56-1 One report บริษัทจดทะเบียนจึงควรนำกระบวนการตามแนวทางการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence : HRDD) มาปรับใช้ร่วมด้วย เพื่อให้ทราบถึงสถานะของการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าอันจะทำให้สามารถระบุ ป้องกัน บรรเทา และจัดการกับผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในการดำเนินงาน
"แนวทางการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านสำหรับบริษัทจดทะเบียน"** ซึ่ง ก.ล.ต. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำขึ้นได้กล่าวถึงหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) ที่ระบุขอบเขตและหลักการสำคัญเกี่ยวกับ HRDD ดังนี้
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ก.ล.ต. ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 โดยในปี 2567 จะมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ภาคธุรกิจนำ HRDD มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนนำมาเปิดเผยในแบบ 56-1 One report ได้ โดยจะจัด "การอบรมเชิงปฏิบัติการ" จำนวน 3 ครั้ง แบ่งตามภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มการผลิต กลุ่มการบริการ และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน) โดยผู้เกี่ยวข้องหรือบริษัทจดทะเบียนที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพื่อเข้าร่วมการอบรมได้ที่ช่องทางของ ก.ล.ต. ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit