บริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT ผู้นำในการให้บริการด้านการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษที่เน้นความปลอดภัยสูง เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการนำรถบรรทุก eTruck ให้บริการลูกค้าในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่ออกมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ
นายเมฆ มนต์เสรีนุสรณ์ รองกรรมการผู้จัดการด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บมจ. เกียรติธนา ขนส่ง เปิดเผยว่านโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ดีที่จะสนับสนุนให้ภาคขนส่งเข้าถึงโอกาสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ง่ายขึ้น และถือเป็นนโยบายที่มาถูกทางแล้วเพราะสอดคล้องกับความต้องการของกระแสโลกและแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะถูกกำหนดมาตรฐานการปล่อยคาร์บอนของการดำเนินธุรกิจทั่วโลก
"แม้ว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายที่ดีและทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ภาคธุรกิจยังจะต้องร่วมมือกันสร้างระบบนิเวศน์ของ eTruck ให้เพียงพอเพื่อให้ปัญหาอุปสรรคในการใช้ eTruck เหลือน้อยที่สุด เราเองก็เห็นทิศทางการใช้ eTruck ที่กระแสกำลังพัฒนาจากรถเก๋งมาที่ 10 ล้อและจะต่อไปถึงหัวลาก เราจึงไม่ละเลยเรื่องนี้ เรากำลังศึกษาแผนการนำ eTruck มาใช้ใน Fleet ของเรา" นายเมฆ กล่าว
ภายใต้นโยบายของบอร์ดอีวี บริษัทหรือนิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการซื้อรถโดยสารหรือรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานโดยไม่มีกำหนดเพดานราคาขั้นสูง โดยกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้จะมี ผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568
การออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์และรถกระบะเป็นหลัก ซึ่งบอร์ดอีวีคาดว่าการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท
อย่างไรก็ตาม นายเมฆ กล่าวว่าอุปสรรคสำคัญของการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าคือข้อจำกัดของการชาร์จไฟ ซึ่งภาคขนส่งจะต้องมีระยะการวิ่งต่อวันประมาณ 400 - 500 กิโลเมตรต่อวัน และในทางปฏิบัติ การใช้รถมากกว่า 70% ของจำนวนรถที่วิ่งให้บริการ เป็นการวิ่งในช่วงเวลากลางวัน และจอดในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งหากมีการใช้รถไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์แล้ว จะทำให้เกิดคอขวดของระบบการชาร์จไฟ อีกทั้งในปัจจุบัน ภาคการผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลี่ยม เช่นโรงกลั่นและปิโตรเคมี ยังไม่อนุญาตให้ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าพื้นที่ของโรงงานเหล่านี้ เนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดของโรงงานเหล่านี้
"อุปสรรคอีกข้อคือราคาของรถ eTruck แพงกว่ารถหัวลากหรือรถบรรทุกดีเซลเกือบเท่าตัวในขณะนี้ ทำให้การนำนโยบายเข้าสู่ภาคปฏิบัติจะต้องใช้งบประมาณลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนค่าไฟสำหรับรถภาคขนส่ง ก็จะยิ่งเป็นการดึงดูดให้ผู้ประกอบการกล้าลงทุนมากขึ้น เหมือนกับ NGV ช่วงแรกที่รัฐสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิง" นายเมฆ กล่าว
นายเมฆ กล่าวว่าปัจจุบัน KIAT มีการศึกษาเชื้อเพลิงทางเลือกอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น EV และ LNG ซึ่งจะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป และอาจมีการแบ่งการใช้งานเพื่อตอบโจท์งานแต่ละงานของบริษัทฯ
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit