นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพในช่วงสภาพอากาศร้อนจัดว่า กทม. ได้จัดทำแผนการรับมือสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 และดำเนินมาตรการเชิงรุก เน้นย้ำ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนทุกกลุ่มเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อนที่สภาพอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ตลอดจนบุคลากรของ กทม. ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งอย่างใกล้ชิด เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขนมูลฝอย พนักงานในสวนสาธารณะที่ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้และพื้นที่สีเขียวของ กทม. ในช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนผ่านช่องทางไลน์ทุกวัน
สำหรับสวนสาธารณะของ กทม. 51 แห่ง ที่เปิดให้บริการประชาชนได้มาพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมนันทนาการ ทำกิจกรรมการแจ้ง การออกกำลังกาย กทม. ได้แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรกและค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) พร้อมจัดเจ้าหน้าที่กวดขันตรวจตราให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มาออกกำลังกายควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งในเวลากลางวันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพและข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ เช่น ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ และวิธีสังเกตอาการเพลียแดด ป้องกันผลกระทบและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพจากภาวะอากาศร้อนในขณะปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน เช่น อาการเพลียแดด ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) แดด รวมถึงวิธีสังเกตอาการและวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร โดยทีมโฆษกศูนย์และทีมประชาสัมพันธ์ของสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ประสานสำนักการแพทย์เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เรื่องภาวะฮีทสโตรก และแนะนำวิธีการดูแลสุขอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ป่วยสามารถแจ้งสายด่วน 1669 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามการพยากรณ์อากาศจากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th และอินโฟกราฟิกค่าดัชนีความร้อน (HEAT INDEX) ผ่านเพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit