Safeguardkids ผนึกกำลัง 3 กระทรวงด้านความมั่นคง ชวนสังคมติดสัญญาณเตือนภัย "เจอ แจ้ง ไม่เพิกเฉย"

13 May 2024

Safeguardkids ผนึกกำลัง 3 กระทรวงด้านความมั่นคง ชวนสังคมติดสัญญาณเตือนภัย "เจอ แจ้ง ไม่เพิกเฉย" สกัดวิกฤตปัญหา "ละเมิดทางเพศออนไลน์เด็กไทย" ลุกลาม

Safeguardkids ผนึกกำลัง 3 กระทรวงด้านความมั่นคง ชวนสังคมติดสัญญาณเตือนภัย "เจอ แจ้ง ไม่เพิกเฉย"

การค้ามนุษย์และแสวงหาประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ในเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ยังคงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการจัดการปัญหา เนื่องด้วยตัวเลขของเหยื่อที่ถูกละเมิดนั้นเพิ่มขึ้นในทุกปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา โดยชายไทยขึ้นแท่นอันดับ 1 ในการละเมิดเด็กและเยาวชนของตนเอง ขณะที่เด็กผู้หญิงยังคงเป้าหลักในการถูกละเมิดทางเพศ แม้จะมีมาตรการป้องกัน การจัดการ รวมถึงความช่วยเหลืออย่างเข้มข้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ รวมถึงผู้ปกครองแล้วก็ตาม

มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids Foundation) องค์กรไม่แสวงหากำไร หนึ่งในหน่วยงานพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในประเทศไทย ภายใต้ มูลนิธิเด็กโลก (World Childhood Foundation) ใน สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเป็นอีกหนึ่งพลังภาคี ช่วยภาครัฐและภาคประชาสังคมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2556

อย่างไรก็ดี มูลนิธิ Safeguardkids ได้รวบรวมสถิติคดีค้ามนุษย์เด็กและการแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา (2559 - ตุลาคม 2566) โดยอ้างอิงฐานข้อมูลจากชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Children - TICAC Task Force) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบเด็กและเยาวชนไทยถูกทำร้ายจากการละเมิดผ่านช่องทางออนไลน์จนเป็นคดีความเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยระหว่างปี 2559 - 2564 พบเด็กและเยาวชนไทยถูกละเมิดไม่เกิน 100 คดีต่อปี ต่ำสุดในปี 2559 จำนวน 20 คดี แต่การถูกล่วงละเมิดทั้งการค้ามนุษย์ ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กและเยาวชน และนำข้อมูลอนาจารของเด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กลับเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2565 โดยพบเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดสูงสุดในปีดังกล่าวถึง 476 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ราว 24 เท่า และหากคำนวณจากปี 2559 มีเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดจนถึงเดือนตุลาคม 2566 เป็นคดีความแล้วทั้งสิ้น 1,192 คดี  

หากแบ่งตามลักษณะการถูกละเมิด พบว่าตลอดระยะเวลา 8 ปี การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กและเยาวชนมีจำนวนคดีความมากที่สุดรวม 593 คดี อันดับ 2 การถูกล่วงละเมิดทางเพศ 374 คดี อันดับ 3 การค้ามนุษย์ 210 คดี และอันดับสุดท้ายการนำข้อมูลอนาจารของเด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์มี 15 คดี จากสถิติยังพบด้วยว่าเริ่มมีคดีความประเภทสุดท้ายนี้ในปี 2563

ด้าน สถิติผู้กระทำความผิดฐานแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางออนไลน์ จากฐานข้อมูลชุดเดียวกันตั้งแต่ปี 2559 - ตุลาคม 2566 พบผู้กระทำผิดมากถึง 1,404 คน แบ่งเป็นผู้กระทำผิดเพศชาย 1,221 คดี (86.97%) และผู้กระทำผิดเพศหญิง 183 คดี (13.03%) โดยในปีที่ 2565 พบผู้กระทำผิดมากที่สุดจำนวน 525 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 56 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่พบผู้กระทำผิดน้อยที่สุด 25 คดี โดยผู้กระทำผิดเป็นเพศชายทั้งหมด และเมื่อแบ่งตามสัญชาติพบว่าคนไทยล่วงละเมิดเด็กและเยาวชนในประเทศของตนเองสูงเป็นอันดับ 1 จำนวน 1,309 คดี รองลงมาคืออเมริกัน 17 คดี อังกฤษ 8 คดี และออสเตรเลีย 8 คดี และสัญชาติอื่น ๆ รวม 53 คดี

8 ปีที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนไทยกลายเป็นเหยื่อและได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 985 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กผู้หญิง 695 คน (70.56%) และเด็กผู้ชาย 290 คน (29.44%) โดยถูกละเมิดสูงสุดในปี 2565 จำนวน 432 คน เป็นเด็กผู้หญิง 280 คน เด็กผู้ชาย 152 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ถูกละเมิดรวมน้อยที่สุด 14 คน ถึง 31 เท่า และหากแบ่งตามช่วงอายุของเด็กที่ถูกละเมิด พบว่ากลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดมากที่สุดคือช่วงอายุ 8 - 14 ปี มีเด็กตกเป็นเหยื่อมากถึง 473 คน รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-17 ปี และอายุมากกว่า 18 ปี ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 8 ปี ถูกละเมิดน้อยที่สุด  

จากข้อมูลเชิงสถิติที่เข้าขั้นวิกฤตในขั้นต้น และเพื่อให้การดำเนินงานพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทยกลับมามีปราการที่เข้มแข็งขึ้นอีกครั้ง เป็นที่มาของการเสด็จเยือนประเทศไทยของ สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ผู้ก่อตั้ง World Childhood Foundationเพื่อเป็นองค์ปาฐกในการประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก Child Protection Summit 2024 ที่จะมีพิธีลงนามความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมูลนิธิ Safeguard Kids ในการผนึกกำลังปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยาเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกล่วงละเมิด พร้อมด้วยเวทีเสวนาที่จะมาอัปเดตสถานการณ์การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในประเทศไทย และกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและเยาวชนไทยที่ควรระวัง ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

คุณชเล วุทธานันท์ ประธานกรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิ Safeguardkids กล่าวถึงวัตถุประสงค์ การจัดงานประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก Child Protection Summit 2024 ในครั้งนี้ว่า เพื่อให้การดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศเดินหน้า  หลังจากหยุดชะงักในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสร้างความตระหนักให้แก่สังคมไทยต่อประเด็นดังกล่าว หลังสถิติคดีค้ามนุษย์ในเด็กและการแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก ซึ่งสวนทางกับการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2566 (Trafficking in Persons Report: 2023 TIP Report) ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 (Tier 2) เช่นเดียวกับปี 2565 สะท้อนถึงพัฒนาการสำคัญที่รัฐบาลไทยและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยถูกปรับสถานะดีขึ้นจากเทียร์ 2 ที่ต้องถูกจับตามอง (Tier 2 Watch List) ในปี 2564

"ทางมูลนิธิฯ ต้องการจุดประเด็นนี้ให้เกิดแรงกระเพื่อมใหญ่ในสังคมอีกครั้ง เพื่อให้คนไทยได้ร่วมกันขบคิดอย่างจริงจังว่าทำไมประเทศไทยที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 2 แล้ว แต่เด็กและเยาวชนกลับถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น โดยผู้กระทำผิดก็เป็นผู้ใหญ่ในประเทศเสียส่วนใหญ่ ส่วนผู้กระทำผิดจากต่างประเทศก็มีไม่น้อยเช่นกัน นั่นเพราะประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ และยุโรปมีกฎหมายค่อนข้างเข้มงวด ผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งจึงหันมากระทำผิดต่อเด็กและเยาวชนในประเทศยากจน หรือในประเทศที่กฎหมายคุ้มครองเด็กไม่แข็งแรงพอ ส่งผลให้วงจรการทำผิดแบบวิตถารต่อเด็กไม่จบสิ้น ขณะที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจว่าสาเหตุของปัญหามาจากความยากจน แต่แท้จริงแล้วมาจากความวิปริตทางจิตใจของผู้กระทำผิด" ประธานกรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิ Safeguardkids อธิบายเพิ่ม

คุณชเลกล่าวต่ออีกว่า การรณรงค์ในประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันติดสัญญาณเตือนภัยให้กับประเทศ หากพบเห็นความไม่ปกติเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ผู้พบเห็นต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที หรือให้ความช่วยเหลือไม่เพิกเฉยปล่อยผ่าน โดยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมอีกต่อไป เพราะถ้าไม่จัดการปัญหานี้ไทยอาจถูกลดละดับเทียร์ ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศในหลายมิติ เช่น การถูกกีดกันทางการค้า การถูกปฏิเสธจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก การเสียภาษีส่งออกมากกว่า เป็นต้น ที่สำคัญคือตัวเด็กและเยาวชนที่เปรียบได้กับอนาคตของชาติ หากยังปล่อยให้อนาคตของชาติต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยในชีวิตคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ โดยนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อหยุดยั้งการละเมิดทางเพศในเด็ก การเสริมสร้างกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องเด็ก และการป้องปรามผู้กระทำผิดให้เกรงกลัวต่อโทษทัณฑ์ พร้อมผลักดันให้สังคมปฏิเสธการดำรงอยู่ของปัญหานี้จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากเซ็น MOU ซึ่งครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน อาทิ ซีพี และ MQDC เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังด้วย

มูลนิธิ Safeguardkids ใช้หัวใจและความทุ่มเทในการดำเนินงานในหลายโครงการจนผลิดอกออกผลไม่น้อย อาทิ ในปี 2558 ได้ร่วมผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองสื่อลามกเด็กและความผิดของผู้ครอบครอง ด้วยความร่วมมือจากท่าน พ.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์

การดำเนินภารกิจที่ผ่านมาของทางมูลนิธิฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน และ World Childhood Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับนานาชาติในการช่วยเหลือปกป้องเด็กและสตรีทั่วโลกจากความรุนแรง โดยพระองค์พระราชทานความรู้ นวัตกรรมต่าง ๆ และทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน ซึ่งมูลนิธิSafeguardkids เป็น 1  ใน 15 องค์กรในประเทศไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนปีละ 10 ล้านบาท ทั้งนี้พระองค์พระราชทานทุนสนับสนุนให้กับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 183,055,663.80 บาท.

 

Safeguardkids ผนึกกำลัง 3 กระทรวงด้านความมั่นคง ชวนสังคมติดสัญญาณเตือนภัย "เจอ แจ้ง ไม่เพิกเฉย"