บมจ.ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย หรือ AMARC (เอมาร์ค) ประกาศงบ Q1/67 โตแกร่ง หลังการบริโภคฟื้นตัว รายได้จากการบริการอยู่ที่ 75.65 ลบ. เติบโต 16.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โกยกำไรสุทธิ 6.12 ลบ. พุ่งกระฉูด 526.5% มั่นใจรายได้ปี 67 โต 10-15% ตามแผน หลังภาคธุรกิจเกษตร-อาหารฟื้นตัว ตอกย้ำ!!! การเป็นผู้นำแล็บมาตรฐานระดับสากลอย่างแท้จริง
ดร.ชินดนัย ไชยยอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMARC (เอมาร์ค) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้จากการบริการ 75.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีการเติบโตในทุกกลุ่มบริการและมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากลูกค้าเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด 19 และความสามารถในการรับงานโครงการเอกชนที่เพิ่มขึ้น
โดยมีรายได้จากบริการตรวจวิเคราะห์เป็นหลัก (Testing) 69.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเติบโตจากกลุ่มลูกค้าเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การขยายขอบข่ายการให้บริการ ทำให้บริษัทฯสามารถรับงานโครงการเอกชนได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการเติบโตของรายได้จากสาขาในภาคตะวันออก และภาคเหนือ
ส่วนกลุ่มงานสอบเทียบ (Calibration) เพิ่มขึ้น 18.7% และกลุ่มงานตรวจสอบและรับรองระบบ (Inspection & Certification) รายได้เพิ่มขึ้น 191.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน จากการประมูลงานโครงการของรัฐ และรายได้จากกลุ่มลูกค้าเอกชนและบุคคลธรรมดาที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 526.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า มีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกกลุ่มบริการ ทำให้เกิดผลดีต่อ Economies of Scale และประสิทธิผลของการบริหารจัดการด้านเครดิต ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยดีขึ้น
"ผลงาน Q1/67 มีการเติบโตที่ดี ตอบรับเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว ช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้กลับมาคึกคัก โดยแผนธุรกิจปี 67 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% คาดว่าผลดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะทำสถิติสูงสุดช่วง Q3/67 เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกภาคธุรกิจเกษตรและอาหาร รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ของภาครัฐฯ ส่งผลให้หลายธุรกิจกลับมาส่งออกเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่ขยายตัวทั้งทางการแพทย์ และภาคธุรกิจเกษตร-อาหาร" ดร.ชินดนัยกล่าว
ในปี 2567 บริษัทฯ วางงบลงทุนรวมราว 30 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเครื่องมือวิทยาศาสตร์เข้ามาขยายกำลังการให้บริการและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการขยายกำลังการให้บริการนี้ จะพร้อมและเริ่มส่งผลต่อกำลังการให้บริการในปี 67 อย่างเห็นได้ชัด และจะลดแรงกดดันที่ต้องขยายกำลังการให้บริการในอัตราเร่งเช่นที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การลงทุนลดลง นำมาซึ่งอัตรากำไรที่เหมาะสม เป็นการเติบโตแบบ Organic Growth ทั้งจากลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภูมิภาคที่บริษัทได้เริ่มบุกตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit