กรมควบคุมมลพิษเดินหน้าผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) พร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชน พัฒนาเครื่องมือและมาตรการสนับสนุน เพื่อทดลองการดำเนินงานภายใต้องค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Producer Responsibility Oraganization) เรียนรู้กระบวนการเก็บรวบรวมและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทั้งกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าและไม่มีมูลค่า ให้เกิดการนำไปรีไซเคิลหรือจัดการอย่างยั่งยืน
ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในปี 2564 มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 24.98 ล้านตัน เป็นปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกคัดแยกและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 7.89 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 9.28 ล้านตัน ดังนั้น จึงมีขยะมูลฝอยกว่า 7.81 ล้านตันที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกเก็บขนมากำจัดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ด้วยประชาชนไม่มีการคัดแยกขยะทำให้ต้องเสียงบประมาณเก็บขนและบางส่วนเกิดการปนเปื้อนจึงต้องทิ้งเป็นภาระต่อระบบกำจัด
นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "เป้าหมายการจัดการขยะของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษมีการจัดการปัญหาขยะของประเทศด้วยมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดการเกิดขยะที่แหล่งกำเนิด การเพิ่มศักยภาพในการจัดการขยะเพื่อหมุนเวียนทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เช่น เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ PRO - Thailand Network จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการช่วยจัดการปัญหาบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว โดยเน้นการคัดแยกและการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อส่งกลับไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ"
กรมควบคุมมลพิษตระหนักดีว่าการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วโดยการขับเคลื่อนของภาคเอกชนนั้น จะมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้ต้องมีแรงสนับสนุนทางด้านกฎหมายจากภาครัฐ ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษ จึงได้จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของประเทศไทย ภายใต้หลักการ Extended Producer Responsibility หรือ หลักการ EPR ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางคือการออกแบบ จนถึงปลายทางคือการกำจัดหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง โดยหลักการ EPR เป็นหลักการที่ใช้อย่างแพร่หลายและทำให้การจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประสบความสำเร็จในหลายประเทศ แต่การนำหลักการ EPR มาใช้ก็จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ทางกรมควบคุมมลพิษจึงเปิดโอกาสให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมมือกันพัฒนากฎหมาย EPR ที่เหมาะสมและสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า "ทางกรมฯ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาเครื่องมือและมาตรการสนับสนุนเพื่อทดลองการดำเนินงานโมเดลองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Producer Responsibility Oraganization) ในรูปแบบแซนบ๊อกซ์ (Sandbox) ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการเก็บรวบรวมและการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ทั้งในกลุ่มบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่มีมูลค่า สามารถขายได้ เช่น ขวดพลาสติก PET, กระป๋องอะลูมิเนียม, ขวดแก้ว และในกลุ่มบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคที่ไม่มีมูลค่า เช่น กล่องเครื่องดื่มยูเอชที ซองขนม ถุงน้ำยาชนิดเติม เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบัน กรมฯ ได้มีการหารือและประสานงานกับภาคเอกชนที่รวมตัวกันด้วยความสมัครใจจัดตั้ง "องค์กรเครือข่ายจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือ PRO-Thailand Network "เพื่อบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างเป็นระบบ นำทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้ศึกษารวมจากต่างประเทศมาสู่การลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในบริบทของประเทศไทย เรียนรู้จากหน้างานจริง ร่วมมือและแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าของแต่ละบรรจุภัณฑ์"
ด้านคณะผู้บริหารของ PRO - Thailand Network กล่าวว่า "การทำงานของ PRO-Thailand Network มุ่งเน้นการจัดการตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นทาง คือ การออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงปลายทาง คือ การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากภาคประชาชน เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือแปรรูปนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยดำเนินการผ่านโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน หรือมูลนิธิ 3R นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและภาคเอกชนอื่น ๆ ในช่วงที่ยังเป็นการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตด้วยความสมัครใจ (Voluntary EPR) เพื่อศึกษาและพัฒนาองค์กรที่รับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือ PRO ของประเทศ รวมถึงพัฒนา (ร่าง) กฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนที่ใช้งานได้จริง"
โครงการนำร่องของ PRO - Thailand Network ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 โดยเน้นที่การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค 3 กลุ่ม คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนหลายชั้น หรือ Multilayer Packaging (MLP) เช่น ซองขนม ถุงน้ำยาเติม ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีของการดำเนินโครงการ สามารถเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทขวดพลาสติก PET ได้ 40,134.15 ตัน กล่องเครื่องดื่ม UBC 466.14 ตัน และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนหลายชั้น หรือถุง MLP 1,178.56 ตัน ที่สำคัญ PRO-Thailand Network ยังได้ทำงานร่วมกับโรงงานงานรีไซเคิลมากถึง 13 แห่งทั่วประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการทำงานของสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า พร้อมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในวงกว้างเกิดความตระหนักรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน
"โมเดล PRO ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักการ EPR การทำงานของ PRO - Thailand Network จึงนับว่าเป็นอีกความหวังของการพัฒนาโมเดลการทำงานของ PRO ประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคเพื่อส่งกลับไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่อย่างยั่งยืน" นางกัญชลีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit