การแข่งขัน Huawei ICT Competition ระดับเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 ประจำปี 2023-2024 (พ.ศ. 2566-2567) ประกาศผลผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายในงานพิธีประกาศผลรางวัลซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยและมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย การแข่งขันระดับภูมิภาคภายใต้คอนเซ็ปต์ 'Connection, Glory, and Future' ครั้งนี้ ได้รับความสนใจเข้าร่วมอย่างล้นหลามจากนักเรียนนักศึกษากว่า 6,400 คน จาก 14 ประเทศและเขตการปกครองทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงตัวแทนนักศึกษา 4 ทีมจากประเทศไทย ซึ่ง 2 ทีมสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันประเภท Network Track และ AI Track รวมทั้งได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมชิงแชมป์ต่อในรอบตัดสินของการแข่งขัน Huawei ICT Competition ระดับโลก ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดบพิธีประกาศผลรางวัลนี้ยังได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ เกา กึมฮวน เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยคณะผู้แทนประจำอาเซียนและตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมในพิธีอย่างคับคั่ง
นายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวเกี่ยวกับการแข่งขันว่า "เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 มานี้ เราได้เพิ่มการแข่งขันในหมวด Computing Track เข้ามาอีกหนึ่งประเภท นอกเหนือไปจากประเภท Network Track, Cloud Track และ Innovation Track เรายังได้ออกแบบกิจกรรมที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างทักษะเรื่องความเป็นผู้นำและทักษะเพื่อการทำงานให้กับนักเรียน และด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันทางการศึกษา โดยเราหวังที่จะได้เพาะบ่มผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญ และนักนวัตกรรมในอนาคตให้กับภูมิภาคนี้"
ผู้ชนะรางวัลสูงสุดในแต่ละประเภทของการแข่งขันระดับเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ ประกอบด้วย สถาบัน Cebu Institute of Technology ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับประเภท Innovation Track สถาบัน Institut Teknologi Bandung ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับประเภท Network Track สถาบัน Singapore Polytechnic สำหรับประเภท Cloud Track และสถาบัน i-Academy ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับประเภท Computing Track ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีก 16 ทีมจากทั่วภูมิภาค ซึ่งรวมถึงทีมนักศึกษาไทยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังและจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับรางวัลอันดับหนึ่ง อันดับสอง และอันดับสาม พร้อมด้วยสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน Huawei ICT Competition รอบตัดสินในระดับโลก
นายมากิ คัตสึโนะ-ฮายาชิคาวา ผู้อำนวยการและตัวแทนจากสำนักงานยูเนสโก (UNESCO) ส่วนภูมิภาค ประจำกรุงจาการ์ตา กล่าวแสดงความชื่นชมหัวเว่ยสำหรับความตั้งใจในฐานะที่เป็น "พันธมิตรในโครงการ Global Skills Academy (GSA) ของยูเนสโก ซึ่งหัวเว่ยได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการฝึกอบรมออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียนนักศึกษาทั่วโลกโดยผ่านทางโครงการ Huawei ICT Academy เพื่อเป็นการบ่มเพาะบุคลากรด้านไอซีที"
ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าวย้ำถึงความจำเป็นของทักษะการมีองค์ความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ว่า "ในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก ความรู้และความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่แค่ทักษะที่ควรติดตัวไว้ แต่คือทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม และการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันบนเวทีโลก"
การแข่งขัน Huawei ICT Competition เปิดเวทีให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้ามาร่วมแข่งขันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการเพาะบ่มองค์ความรู้ด้านไอซีทีและเสริมทักษะด้านการปฏิบัติจริง นับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 แล้ว ที่มีการจัดการแข่งขันขึ้นในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นไม่เพียงเพื่อมุ่งยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของนักเรียนที่เข้าร่วมเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการลดช่องว่างด้านบุคลากรดิจิทัล หัวเว่ย มีความมุ่งมั่นที่จะขยายการสนับสนุนด้านการศึกษา ด้วยแผนการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม Huawei ICT Academy จำนวน 500 แห่ง เพื่อบ่มเพาะนักศึกษากว่า 200,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2568
ทีมนักศึกษาไทยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับรางวัลอันดับ 3 ในการแข่งขันประเภท Network Track และ AI Track ตามลำดับ โดยสามารถคว้าชัยชนะด้วยผลงานแอปพลิเคชันเทคโนโลยีสุดล้ำที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในสังคม
จากการแข่งขันระดับประเทศของนักศึกษาไทยจำนวน 317 คน จากมหาวิทยาลัย 14 แห่งทั่วประเทศ คัดเลือกเหลือเพียง 4 ทีมเพื่อเข้าแข่งขันต่อในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังเสร็จสิ้นพิธีประกาศรางวัลรอบเอเชียแปซิฟิก นักเรียนไทยผู้ชนะทั้ง 2 ทีม ได้แสดงความรู้สึกดีใจที่ได้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในระดับโลก และเปิดเผยว่าการแข่งขันได้ให้ประสบการณ์มากมาย ได้เรียนรู้ทักษะทางเทคนิคเพิ่มเติมในสาขาวิชาที่ศึกษาอยู่ รวมไปถึงได้เรียนรู้วิธีที่เหมาะสมมากขึ้นในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม โดยทั้งสองทีมยังได้เผยแผนการต่อยอดโครงการสำหรับการแข่งขันในระดับโลกและหวังที่จะคว้ารางวัลสูงสุดกลับมาเช่นกัน
หัวเว่ย มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทย สอดคล้องกับพันธกิจที่มีต่อประเทศไทย ในการ 'เติบโตในประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย' และพันธกิจต่อภูมิภาคอาเซียนในการ 'นำทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง' ในอนาคต หัวเว่ยจะยังคงเดินหน้าส่งมอบโซลูชันล้ำสมัยและส่งเสริมการพัฒนาทางด้านบุคลากรผ่านโครงการต่าง ๆ ต่อไป เพื่อเสริมสร้างการเติบโต ยกระดับประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนการร่วมมือกับพันธมิตรในแต่ละประเทศเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมเป็นอีกหนึ่งกำลังในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit