นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนพ. ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำแนวทางควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ส.ค. 67 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด (วัคซีนมีจำนวนจำกัด) พร้อมทั้งมอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง ให้บริการเชิงรุก เช่น จัดกิจกรรม นิทรรศการแก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลให้ตระหนักถึงการดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูฝนจะเข้าสู่การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่าง ๆ
ขณะเดียวกันได้เชิญชวนประชาชนไทย 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษาพยาบาล สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ประจำปี 2567 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ (1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการฉีดตลอดทั้งปี) (2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ทุกคน (หมายถึง กลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนเต็มจนถึงอายุ 2 ปี 11 เดือน 29 วัน) (3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน (4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป (5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) (6) โรคอ้วน (ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร และ (7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่รับบริการเป็นประจำ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ "กระเป๋าสุขภาพ" แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และจองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้า รพ.สังกัด กทม. ผ่าน https://shorturl.asia/EDSs6 หรือสแกน QR Code ติดต่อศูนย์ UMSC รพ. สังกัด กทม. ทั้ง 11 แห่ง ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" สามารถโทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง
นอกจากนั้น ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนกลุ่มเสี่ยง สร้างความตระหนักและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและครบ 5 หมู่ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ ล้างมือให้สะอาด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีโรคประจำตัว พร้อมให้ความรู้ ข้อแนะนำ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคเบื้องต้นตามชุมชนและสถานที่ที่มีคนแออัด หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit