ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภค
นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสั่งการให้สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1-12 กระจายกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ดูแลซ่อมแซมบ่อน้ำบาดาลและระบบประปาบาดาลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา เช่น โครงการน้ำบาดาลในโรงเรียนที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551-2562 โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังมีจุดจ่ายน้ำบาดาลสะอาดที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศกว่า 600 แห่ง ซึ่งประชาชนสามารถนำภาชนะบรรจุน้ำไปรับบริการน้ำสะอาดที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยเพื่อนำกลับไปใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือนได้ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 มีการแจกจ่ายน้ำบาดาลสะอาดไปแล้วมากกว่า 5 ล้านลิตร
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีกำลังเจ้าหน้าที่ และมีความพร้อมสามารถสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ เช่น การเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล การซ่อมแซมระบบประปาบาดาล และซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1-12 หรือสายด่วน Green Call 1310 กด 4 หรือโทรศัพท์ 0 2666 7000 เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องและช่วยประสานงานต่อไป
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อไปว่า สำหรับปีงบประมาณ 2567 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 335 แห่ง ดังนี้
- เกษตรพลังงานแสงอาทิตย์ 60 ไร่ จำนวน 160 แห่ง
- เกษตรแปลงใหญ่ 300 ไร่ จำนวน 22 แห่ง
- เกษตรแปลงใหญ่ 500 ไร่ จำนวน 54 แห่ง
- น้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน จำนวน 75 แห่ง
- น้ำบาดาลระยะไกลแก้ปัญหาพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม
จำนวน 24 แห่ง
รวมทั้ง 2 โครงการ คิดเป็นปริมาณน้ำต้นทุนกว่า 28.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 20,910 ครัวเรือน (83,640 ราย) และมีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์กว่า 43,200 ไร่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit