นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบนโยบายขับเคลื่อนนวัตกรรมเมืองสีเขียว สู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยสนับสนุนให้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) อย่างเป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยใช้ได้จริง ผ่าน 2 โครงการหลัก ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้แก่ โครงการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับ และโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบายขับเคลื่อนนวัตกรรมเมืองสีเขียว สู่สังคมคาร์บอนต่ำดังกล่าว วว. และพันธมิตร ร่วมทำงานบูรณาการแบบจตุภาคี Quadruple helix ระหว่างหน่วยงานวิจัย หน่วยงานการศึกษา ชุมชน รวมทั้งภาครัฐและเอกชน นำ วทน. ไปแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (STI for Total Solution) พร้อมเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับบริบทการใช้งานจริง ทั้งในด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ตลอดจนมีความเหมาะสมกับสังคม และสิ่งแวดล้อม
โครงการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับ วว. ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 13 แห่ง เข้าไปขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับในชุมชนท้องถิ่นอย่างมีอัตลักษณ์ เช่น เบญจมาศปรับปรุงพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิตต้นกล้าปลอดโรค แม่พันธุ์ไม้กลุ่มแอสเตอร์ ได้แก่ พีค๊อก และมาร์กาเร็ต เป็นต้น เพื่อช่วยลดการนำเข้าสายพันธุ์ ได้พันธุ์ไม้ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมในประเทศไทย และเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เทียบเท่าต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยที่ผลิตจากวัสดุในท้องถิ่น การใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชในระบบเกษตรปลอดภัย เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดต้นทุนและอันตรายจากการใช้สารเคมีในการผลิต ความเสียหายระหว่างการขนส่ง สำหรับการสร้างมาตรฐานไม้ตัดดอกและดอกไม้เพื่อการบริโภคอันจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป ปัจจุบัน วว. และหน่วยงานพันธมิตร ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและดูแลวิสาหกิจชุมชนผลิตไม้ดอกเพื่อการตัดดอกและการท่องเที่ยวกว่า 8 จังหวัด เช่น จังหวัดยะลา เชียงราย เชียงใหม่ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา ลำปาง โดยไม้ดอกเศรษฐกิจหลัก คือ เบญจมาศและแอสเตอร์
โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร วว. ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันพลาสติก เทศบาลตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง และจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย จากการขยายผลความสำเร็จ "ตาลเดี่ยวโมเดล" สู่ภาคเอกชน สำหรับการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยฝีมือคนไทย พร้อมดำเนินการในรูปแบบ "ธุรกิจชุมชน" หรือ Social Enterprise เต็มรูปแบบในปี 2567 โดยตั้งเป้าแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลทั้งในชุมชนและในหลุมฝังกลบ เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทสมาชิก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในประเทศไทย และ Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics) ขับเคลื่อนการจัดการพลาสติกและวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืน โดยการศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ในการจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร "Smart Recycling Hub" พร้อมนำร่องโมเดลต้นแบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจะขยายผลไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนากลไก การรวบรวม การคัดแยก และการแปรรูป เป็นวัสดุรีไซเคิลสะอาดคุณภาพสูง ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตั้งเป้าเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ 50,000 ตันต่อปี
"...ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ วว. นำนวัตกรรมจากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้จริงให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน บนพื้นฐานของการตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการวัสดุรีไซเคิลแบบมีส่วนร่วม ด้วยการใช้ผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบริหารจัดการขยะชุมชนครบวงจร ตั้งแต่การจัดการขยะต้นทางถึงปลายทาง การจัดการวัสดุรีไซเคิล การจัดการขยะอินทรีย์ และการบำบัดน้ำเสีย โดย วว. มีเทคโนโลยีพร้อมใช้ต่อการจัดการขยะชุมชนในแต่ละขนาดให้เหมาะสมกับระดับชุมชน องค์กร เทศบาล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนในแต่ละระดับ เพื่อคัดแยกและแปรรูปให้เป็นวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูง ใช้เทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงง่าย
โดยมีต้นแบบตู้อัจฉริยะในการรวบรวมและคัดแยกขยะพลาสติกที่มีรูปทรงประเภทต่างๆ สายพานแยกขยะคุณภาพสูง ระบบซักล้างถุงพลาสติกพร้อมระบบบำบัดน้ำ เครื่องรับซื้อวัสดุรีไซเคิลแบบไร้คน เครื่องผลิตชีวมวลอัดแท่ง เครื่องผลิตถ่านกรองน้ำและไบโอชาร์ (Biochar) จากเปลือกผลไม้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนมูลค่าเพิ่ม (Upcycling Product) จากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้งภายหลังจากการบริโภค เช่น เปลือกหอยและเปลือกปู สู่การขับเคลื่อนการจัดการวัสดุรีไซเคิลให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทางเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy พร้อมขยายผลสำเร็จดังกล่าวไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ นับเป็นการร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมเมืองสีเขียว สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน" ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit