โครงการเพาะพันธุ์เสือดาวอาระเบียเพื่อการอนุรักษ์ของราชกรรมาธิการอัลอูลา ต้อนรับสมาชิกใหม่ "ลูกเสือดาว 7 ตัว"

09 Nov 2023
  • ลูกเสือดาวเกิดใหม่  7 ตัวนี้ถือว่ามากกว่าลูกเสือดาวเกิดใหม่ในปี 2565 ถึงสองเท่า และทำให้จำนวนเสือดาวอาระเบียทั้งหมดของราชกรรมาธิการอัลอูลาเพิ่มขึ้นเกือบ 100% นับตั้งแต่ปี 2563 รวมเป็น 27 ตัว
  • ลูกเสือดาวทุกตัวเกิดในช่วง  5 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสัตวแพทย์และผู้ดูแลเสือดาวที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีคอยติดตามพัฒนาการและดูแลตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

ราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดลูกเสือดาวอาระเบีย 7 ตัวในปี 2566 นี้ โดยถือเป็นก้าวสำคัญของโครงการเพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งมุ่งหวังที่จะปกป้องสัตว์สายพันธุ์นี้จากสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

ลูกเสือดาวทั้งหมดเกิดในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ณ ศูนย์เพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ของราชกรรมาธิการอัลอูลา ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองทาอิฟ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ราชกรรมาธิการอัลอูลามีเสือดาวอาระเบียรวมทั้งสิ้น 27 ตัว หรือเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากที่เคยมีอยู่ 14 ตัวเมื่อตอนเริ่มโครงการอนุรักษ์ในปี 2563

ในระยะยาวนั้น การนำเสือดาวอาระเบียกลับคืนสู่ธรรมชาติถือเป็นจุดสูงสุดของการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเมืองอัลอูลาอย่างครอบคลุม ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปี 2573 (Vision 2030) ของซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ เสือดาวอาระเบียถูกจัดอยู่ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) ในสถานะ "ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง" โดยเสือดาวตามธรรชาติที่เหลืออยู่ในคาบสมุทรอาหรับคาดว่ามีไม่ถึง 200 ตัว ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์เป็นวันเสือดาวอาระเบียสากล เพื่อรณรงค์ให้เห็นถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์สำคัญนี้

การเกิดของลูกเสือดาว 7 ตัวได้สร้างขวัญและกำลังใจอย่างมากให้แก่โครงการเพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ หลังจากที่มีลูกเสือดาวเกิดใหม่ 3 ตัวเมื่อปีที่แล้ว โดยในบรรดาลูกเสือดาวเกิดใหม่ในปีนี้ มี 5 ตัวที่ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เสือดาวที่อยู่ในศูนย์โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องดูแลเพิ่มเติม และเจ้าหน้าที่จะรักษาระยะห่างเพื่อให้แม่ลูกได้สานสัมพันธ์กัน

ส่วนลูกเสือดาวอีก 2 ตัวที่เหลือได้รับการเลี้ยงดูโดยเจ้าหน้าที่ของราชกรรมาธิการอัลอูลา เนื่องจากถูกแม่ทิ้งหลังคลอด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ทั่วไปตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในศูนย์หรือในป่าก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่ได้นำลูกเสือดาวที่ถูกทิ้งออกมาอย่างรวดเร็วหลังจากติดตามพฤติกรรมของแม่อย่างใกล้ชิด

การย้ายลูกเสือดาวไปยังเนอร์สเซอรีที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษนั้น ไม่เพียงช่วยป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดจากแม่เสือดาวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้อย่างมากในช่วงเริ่มต้นของชีวิตที่เปราะบางเช่นนี้ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการอนุรักษ์ที่เข้มงวด ลูกเสือดาวจะได้รับการเลี้ยงดูด้วยมือโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทุ่มเทและอยู่กับลูกเสือดาวตลอดเวลา ทั้งนอนอยู่ใกล้ ๆ และให้อาหารทุก ๆ สองชั่วโมงโดยประมาณ

คุณอับดุลอะซีซ อเลนซี (Abdulaziz Alenzy) ผู้จัดการศูนย์เพาะพันธุ์ของราชกรรมาธิการอัลอูลา กล่าวว่า "เราทุกคนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับลูกเสือดาวอาระเบียเกิดใหม่ทั้ง 7 ตัวอย่างปลอดภัยและสมบูรณ์แข็งแรงในโครงการเพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ของราชกรรมาธิการอัลอูลา นับเป็นอีกก้าวสำคัญในความพยายามอย่างต่อเนื่องของเราในการอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์นี้ ด้วยการเพิ่มจำนวนประชากรให้ได้ทุกปีเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของเราในการนำเสือดาวกลับคืนสู่ป่าของเมืองอัลอูลาและซาอุดีอาระเบีย"

ทีมงานของศูนย์เพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ของราชกรรมาธิการอัลอูลาได้ติดตามดูเสือดาวทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงผ่านกล้องวงจรปิด เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเสือดาวอาระเบียกำลังตั้งท้อง ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือเข้าไปใกล้แม่เสือดาวเป็นเวลาประมาณ 12 สัปดาห์ในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ และอาศัยการติดตามจากกล้องวงจรปิดเพียงอย่างเดียว

คุณอเลนซีกล่าวเสริมว่า "แน่นอนว่าถ้าแม่เสือดาวเลี้ยงลูกเองตามธรรมชาติจะดีกว่ามาก แต่บางครั้ง โดยเฉพาะกับแม่มือใหม่ มีโอกาสที่แม่เสือดาวอาจทิ้งลูกเนื่องจากขาดประสบการณ์ เพราะไม่รู้ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร ถ้าเป็นในป่า ลูกเสือดาวอาจถูกทิ้งให้ตาย เนื่องจากเสือดาวอาระเบียเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญมาก เราจึงตัดสินใจยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเมื่อสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในศูนย์ของเรา"

"ลูกเสือดาวที่ถูกเลี้ยงด้วยมือโดยเจ้าหน้าที่มีความสำคัญพอ ๆ กับลูกเสือดาวที่ถูกเลี้ยงโดยแม่เสือดาว แต่หลังจากเลี้ยงด้วยมือแล้ว ลูกเสือดาวจะต้องกลับไปอยู่กับเสือดาวตัวอื่น ๆ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกพิเศษและความอดทนอย่างมาก หลังจากเวลาผ่านไป 5-6 สัปดาห์ เราจะนำลูกเสือดาวกลับเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย นอกจากนี้ เรายังเปลี่ยนจากการให้นมไปเป็นอาหารแข็ง ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการช่วยชีวิตลูกเสือดาวทุกตัวมีความสำคัญมากเพียงใด"

วิดีโอ - https://mma.prnewswire.com/media/2270889/Arabian_Leopard_Cubs_RCU.mp4
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2270891/Arabian_Leopard_Cub_RCU.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2270894/Arabian_Leopard_Cubs_RCU.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2270896/Arabian_Leopard_Cubs_RCU.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2270897/Arabian_Leopard_Cubs_RCU.jpg

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit