กทม.ให้บริการเชิงรุกเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก

07 Nov 2023

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค บริหารจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย และจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรค ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของ รพ.ในสังกัดให้บริการเชิงรุกเผยแพร่ความรู้ เช่น การจัดกิจกรรม นิทรรศการแก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ รพ.ให้ตระหนักถึงการดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเอง

กทม.ให้บริการเชิงรุกเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก

ส่วนความคืบหน้าการให้บริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในสถานพยาบาล กทม.ได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลของ กทม.จัดบริการแผนกฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยแจ้ง รพ.ในสังกัดรับทราบแนวทางการจัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่ได้รับสิทธิในการฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ต้องเป็นประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ (1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี (3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคคือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน (4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

(5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) (6) โรคอ้วน (ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร และ (7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่รับบริการเป็นประจำ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ "กระเป๋าสุขภาพ" แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และจองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้า รพ.สังกัด กทม.ผ่านแอปพลิเคชัน "QueQ" หรือผ่าน "กระเป๋าสุขภาพ" แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" สามารถโทร.สายด่วน สปสช.1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง

สำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในสถานพยาบาลของ กทม. สนพ.ได้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการและเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ด้วยการตรวจค้นพบโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ตลอดจนกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายใน รพ.และชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักทางด้านสุขภาพ รวมทั้งรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้งนี้ สนพ.ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยให้ทุก รพ.ในสังกัดสำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน รพ.และบริเวณโดยรอบ รพ.อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้แก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัด พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ รพ. แนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ ปิด - ปิดฝาภาชนะให้สนิท ปล่อย -ปล่อยปลากินลูกน้ำ เปลี่ยน - เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปรับ - ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปฏิบัติ - ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย

ขณะเดียวกันได้สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง และการสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากมีอาการไข้สูงให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยากลุ่มนี้อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น หรือให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยสามารถพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชม.

HTML::image(