สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ร่วมเผยส่งออกอาหาร 9 เดือนแรกปี 2566 ทำรายได้เข้าประเทศ 1.16 ล้านล้านบาท โตร้อยละ 4.6 คาดทั้งปีส่งออกได้ 1.55 ล้านล้านบาท ประเมินปี 67 ส่งออกแตะ 1.65 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกโตต่ำ เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง สงครามที่คุกรุ่น ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร และปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเกษตรอาหารทั่วโลก ณ ห้องประชุม PASSION (802) ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต และนางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมให้รายละเอียด
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารในหลายภูมิภาคลดลง จึงมีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการสำรองอาหารในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ในส่วนของประเทศไทย แม้ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรของไทยหลายรายการจะลดลง แต่สินค้าส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาลทราย
ตลาดภายในภูมิภาคอย่างจีน อาเซียนเดิม 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม เป็นตลาดหลักที่ส่งผลทำให้ภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 2566 ขยายตัว ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1, 2 และ 3 ของไทยในปัจจุบัน ตามลำดับ โดยมีผลไม้สด ข้าว และน้ำตาลทราย เป็นสินค้าหลักที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูง สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่หดตัวลงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว (สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น) และปัญหาวัตถุดิบการเกษตรที่มีผลผลิตลดลงและต้นทุนสูงขึ้น เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปลาทูน่า ยกเว้นกุ้งที่มีราคาตกต่ำ
แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน เพราะได้รับแรงหนุนจากปริมาณวัตถุดิบการเกษตรฤดูการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาด รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คาดทั้งปี 2566 การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5
นางอนงค์ ได้ประเมินแนวโน้มส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 ว่า "อุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งภาคการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก อุตสาหกรรมการผลิตที่มีตลาดในประเทศ จะขยายตัวโดดเด่นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ ขณะที่การส่งออกอาหารไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงหลังทางการประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า สินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เช่นเดียวกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินบาทผันผวนน้อยลงและยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยในปี 2567 เงินบาทที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ย 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2566 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งเป็นระดับที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย"
นางอนงค์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การค้าอาหารโลกและสภาวะการแข่งขันของสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกเพิ่มเติมอีกว่า การค้าอาหารโลกในปี 2566 มีมูลค่า 1.824 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 2.3 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้บริโภค เงินเฟ้อที่ยังคงสูงในหลายประเทศ กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคให้อ่อนตัวลง อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนของผู้ผลิต เพราะต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อาจทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นมาก การลดลงของราคาอาหารโลก (ยกเว้นราคาน้ำตาล) ทำให้ประเทศผู้ส่งออกมีรายได้ลดลง การขาดแคลนวัตถุดิบและการลดลงของผลผลิตการเกษตรจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เช่น ในอินเดียที่ทำให้ทางการต้องออกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล รวมถึงนำเข้าสินค้าน้ำมันพืชมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภาวะสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกยังคงคุกรุ่น ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง
ในปี 2566 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.47 จากร้อยละ 2.25 ในปีก่อน ในขณะที่ประเทศจีนและเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทย ส่วนอินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกลดลงจากปีก่อน จากมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารหลายรายการเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของอินเดีย รวมถึงสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียและมาเลเซียอย่างน้ำมันปาล์มที่มีราคาลดลง
ในปี 2566 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2565 โดยที่สหรัฐอเมริกา บราซิล และเนเธอร์แลนด์ ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ถึง 3 ของโลกตามลำดับเช่นเดียวกับปีก่อน ส่วนจีนแซงเยอรมนีขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก ขณะที่ประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่อันดับตกลง ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ยกเว้นเวียดนามที่อันดับโลกดีขึ้น 2 อันดับ ทั้งนี้ โปแลนด์เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่เติบโตเร็วและน่าจับตามองที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยโปแลนด์ใช้เวลาเพียง 6 ปี ในการก้าวจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 18 ของโลก ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 10 ของโลก (TOP 10) ซึ่งโปแลนด์ได้รับประโยชน์มากหลังจากเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สินค้าที่มีศักยภาพของโปแลนด์ ได้แก่ กลุ่มปศุสัตว์ทั้งสัตว์ปีก เนื้อวัว เนื้อหมู กลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม น้ำตาลและลูกกวาด ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา และผักผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล หัวบีท หัวหอม และกะหล่ำปลี เป็นต้น