วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพ และเพิ่มแนวโน้มความเจ็บป่วยด้วยโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาว การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคติดต่อและภัยสุขภาพ จึงขอให้ประชาชนหมั่นดูแลร่างกายให้อบอุ่น และแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากโรคและภัยสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย 1) โรคติดต่อทางระบบหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ 2) โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจาระร่วง 3) โรคติดต่อที่สำคัญอื่น ๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด และ 4) ภัยสุขภาพ ได้แก่ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว การขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายจากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส
"โรคไข้หวัดใหญ่ การติดต่อสามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ผ่านทางการหายใจ หรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ผ่านการไอ จาม แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตา หรือปาก ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ไอ หนาวสั่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ น้ำมูกไหล ตาแดง และตาแฉะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่จะมีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรง เช่น ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ โรคปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอ และหายใจหอบเหนื่อย อาการดังกล่าวมักเป็นเฉียบพลัน การวินิจฉัยอาการทางคลินิกร่วมกับการพบภาพถ่ายรังสีเอ็กซเรย์ปอดผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักจะมีภาวะหายใจล้มเหลว และมีโอกาสสียชีวิต แนวทางการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวหรืออากาศเปลี่ยนแปลง ดูแลสุขภาพอนามัยเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากมีอาการสงสัยหรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย ให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทันที และหากผลการตรวจเป็นบวกให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและผู้อื่น วัคซีนยังคงมีความสำคัญและมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรครุนแรง จึงควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรง
โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน การติดต่อเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ อย่างน้อย 3 ครั้ง หรือถ่ายปนมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียนและขาดน้ำ หรือมีไข้ ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป อาจทำให้ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ แนวทางป้องกัน สร้างความตระหนักด้านการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ และหลังจากสัมผัสสิ่งสกปรกทุกครั้ง รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ หากต้องการเก็บรักษาอาหารที่เหลือจากการรับประทาน หรืออาหารสำเร็จรูปที่ซื้อไว ควรเก็บในตู้เย็นหรือภาชนะที่ปิดมิดชิด ฯลฯ การเข้ารับวัคซีนป้องกันเชื้อ Rotavirus ในเด็กเล็ก ซึ่งได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (EPI) สามารถให้โดยหยอดทางปาก โดยควรได้รับวัคซีน 2 หรือ 3 ครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน โดยเริ่มให้ที่อายุ 2 เดือนขึ้นไป สามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่น ๆ ตามวัย เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกัน Rotavirus ครบแล้ว อาจยังเกิดโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ Rotavirus ได้ แต่อาการมักไม่ค่อนรุนแรง
ในส่วนของโรคติดต่อที่สำคัญอื่น ๆ ในช่วงฤดูหนาว อาทิ โรคหัด จะติดต่อโดยการไอ จาก หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด แพร่กระจายได้ง่ายเมื่อผู้ป่วยหายใจหรือไอ จาม ละอองอากาศที่ปนเปื่อนเชื้อไวรัส จะสามารถอยู่ในอากาศ หรือพื้นผิวได้นานถึง 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ในระยะ 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ หรือ 3 ถึง 5 วัน ก่อนผื่นขึ้น ไปจนถึง 4 วัน หลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน อาการเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล มักจะไอแห้ง ๆ ตลอดเวลา หลังจากนั้นจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำ และแฉะ อาจมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้น ๆ โรคหัดสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่าย เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ เพื่อทำการสอบสวนและควบคุมโรค รวมถึงค้นหาผู้ที่มีความสี่ยงต่อการติดเชื้อในพื้นที่ต่อไป สำหรับการป้องกันโรคหัดที่ได้ผลดีที่สุด คือ การรับวัคซีนป้องกันโรคหัด (MMR) ให้ครบ 2 ครั้ง
แนวทางการป้องกันการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ประชาชนควรเตรียมความพร้อม ดูแล ส่งเสริมสภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ และดื่มเครื่องดื่มที่สามารถให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้ ให้การดูแลสุขภาพเป็นพิเศษในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้พิการ สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ จัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้พร้อมและอยู่อาศัยในที่อบอุ่นสามารถป้องกันลมในภาวะอากาศหนาวได้อย่างเหมาะสม งดการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงอากาศหนาวมากขึ้น ระมัดรวังและเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการชัก ที่มีผลทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง ในส่วนของการป้องกันการขาดอากาศหายใจและการสูดดมแก๊สพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายจากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้แก๊ส หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ในการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส พร้อมทั้งแนะนำวิธีการช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีเจ็บป่วยจากการใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ผู้เข้าพักอาศัยควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างใช้ห้องน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำหรือให้การช่วยเหลือทันที
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit