มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (MACC) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบัญชี (Ph.D. Accountancy) และหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (DBA) ร่วมกันจัดโครงการ CEO Talks ครั้งที่ 1 โดยได้รับเกียรติจาก คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Chief Engagement Officer (CEO) บริษัท Food Passion จำกัด หรือ ที่รู้จักกันในนามของแบรนด์ Bar-B-Q Plaza มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนให้ความรู้และประสบการณ์ ดำเนินรายการโดย ดร.กุลบุตร โกเมนกุล อาจารย์ หัวหน้าหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงินการลงทุนและเทคโนโลยีทางการเงิน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี DPU ณ ห้องประชุม ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาโท - เอก และคณาจารย์เข้าร่วมฟังกว่า 200 คน
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้กล่าวเปิดโครงการ โดยระบุถึงจุดประสงค์โครงการนี้ว่าเพื่อช่วยให้นักศึกษาฝึกฝนและพัฒนาทักษะในการบริหารองค์กร และเรียนรู้วิธีการเป็นผู้นำที่มีคุณภาพในองค์กร จาก CEO ตัวจริง พร้อมเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจและการดำเนินงานในสภาวะที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับผู้บริหารองค์กร
ในช่วงแรกของการเสวนา คุณชาตยา ได้อธิบายถึง ความแตกต่างระหว่าง Chief Executive Officer (CEO) และ Chief Engagement Officer (CEO) ว่าตำแหน่ง Chief Engagement Officer (CEO) เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่มีในองค์กรทั่วไป แต่มักจะปรากฏในบริษัทหรือองค์กรที่มีการใส่ใจกับการสร้างความสัมพันธ์และความสัมพันธ์ขององค์กรกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนา และบริหารจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและลูกค้า พนักงาน หรือสังคมอื่น ๆ เพื่อสร้างความสุข สร้างความพึงพอใจ และสนับสนุนการสร้างความร่วมมือ (Collaboration) ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของตำแหน่งนี้
สำหรับตำแหน่ง CEO หรือ Chief Executive Officer ที่รู้จักกันทั่วไปนั้น เป็นตำแหน่งสูงสุดในองค์กรหรือบริษัท มีความรับผิดชอบในการนำบริษัทและดำเนินธุรกิจองค์กรให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงการกำหนดและดำเนินนโยบายกลยุทธ์ของบริษัท การบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงิน เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงสุด มีอำนาจในการตัดสินใจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท และรายงานตรงของกรรมการบริษัท (Board of Directors) หรือผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท
คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ กล่าวต่อไปว่า การเป็นผู้นำองค์กรที่ดี หรือ การจะเป็นนักบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จสามารถทำได้ด้วยการใช้กลยุทธ์ SML (Start with why, Mean it, Long-term Consideration) ซึ่งขยายความได้ดังนี้การเริ่มต้นด้วยที่ทำไม (Start with why) ใช้ในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน และเริ่มจากการสื่อสารในทีมงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องและนักลงทุน โดยการอธิบายให้เข้าใจถึงเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่อยากให้บริษัทหรือองค์กรบรรลุผลในระยะยาว นี่คือที่มาและแรงจูงใจที่นำพาการดำเนินธุรกิจ อันจะให้คำตอบว่า "ทำไมเราต้องทำสิ่งนี้" เพื่อจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจและร่วมมือกันในการสร้างความสำเร็จ
Mean it (ลงมือทำอย่างไรต่อ) หลังจากที่กำหนดเป้าหมายและจุดมุ่งหมาย ต้องแสดงให้เห็นว่าเราจริงจังในเรื่องนี้ ซึ่งก็คือ การดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ เพราะทุกคนดูทุกๆการตัดสินใจและกิจกรรมที่เราตัดสินใจลงมือทำมัน
Long-term Consideration (พิจารณาถึงผลลัพธ์ระยะยาว) คือการวางแผนและดำเนินธุรกิจควรมุ่งหวังแบบมองระยะยาว โดยต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานที่สนับสนุนเป้าหมายระยะยาวขององค์กร การคิดในแง่ระยะยาวช่วยให้มีการวางแผนและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ
จากการปฏิบัติตามกลยุทธ์ SML แล้วนั้น จะช่วยให้การบริหารธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวได้ โดยการเริ่มต้นจากที่ทำไม (Start with why) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และต้องแสดงให้เห็นว่าเราจริงจังในเรื่องนี้ด้วย ต่อด้วย Mean it (ลงมือทำอย่างไรต่อ) และ จบด้วยการยึดถือแผนระยะยาวเป็นหลักในการบริหารธุรกิจ (Long-term) เพื่อความยั่งยืนและความสำเร็จในอนาคต