วันนี้ (29 พ.ย. 2566 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบหมายให้ นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ รศ. ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โอกาสนี้ ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. เป็นผู้แทนกล่าวต้อนรับ และ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดนวัตกรรม วว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการร่วมมือเพื่อการพัฒนาพื้นที่และการศึกษาด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน
นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. กล่าวว่า ความร่วมมือของหน่วยงานภายใต้ อว. ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เชื่อมั่นว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลอดจนการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ การพัฒนาจัดการคลังหน่วยกิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรพัฒนาทักษะแบบ Non degree เป็นการผนึกกำลังในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ความร่วมมือของ 3 องค์กรใหญ่ดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี มุ่งวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างกันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงความร่วมมือในด้านวิชาการและการพัฒนานักศึกษา และบุคลากรของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป
สำหรับขอบเขตความร่วมมือภายใต้การลงนามในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) การร่วมมือวิจัย การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งบุคลากรของทั้ง 3 หน่วยงานทั้งสามหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลอดจนการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดนครราชสีมา และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 2) การจัดกิจกรรมที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ การพัฒนาจัดการคลังหน่วยกิต เพื่อพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรพัฒนาทักษะแบบ Non degree ด้านการเกษตรและเกษตรมูลค่าสูงเพื่อสร้างอาชีพและแก้ไขปัญหาความยากจน และด้านต่างๆ ที่มีประโยชน์กับประชาชนหรือจังหวัดนครราชสีมา 3) สนับสนุนการดำเนินงานด้านการศึกษา และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาการ ด้านการเกษตร นิเวศวิทยาป่าเขตร้อน และสิ่งแวดล้อม ให้กับนักศึกษาฝึกงาน ภาคีบัณฑิต และการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในรูปแบบ Upskill reskill newskill & upscale 4) สนับสนุนความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมวิชาการ การศึกษา และกิจกรรมต่างๆ และ 5) ร่วมกันดำเนินกิจกรรมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อร่วมดำเนินงานการแก้ไขและขจัดความยากจน โดยเฉพาะความยากจนข้ามรุ่น ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า มรภ. มีบทบาทเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ผ่านการผลิตบัณฑิตและให้บริการวิชาการ ทั้งนี้ประเทศจะพัฒนาไม่ได้หากขาดรากฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดประโยชน์และพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาและประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการทำงานเพียงหน่วยเดียวจะทำให้สำเร็จได้ช้า ทั้งนี้ ในเบื้องต้น มรภ.จะมุ่งด้านหลักสูตรการบริการจัดการขยะชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง วว. มีความเชี่ยวชาญและมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเป็นรูปธรรม
รศ. ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรการเรียนฯ ภายใต้ความร่วมมือจะใช้องค์ความรู้ซึ่ง วว. มีความเชี่ยวชาญและสามารถนำไปใช้จริงทั้งการพัฒนาพื้นที่และมีการต่อยอดในเชิงธุรกิจ ได้แก่ ระบบโลจิสติกส์ ระบบราง พลังงานสะอาด สังคมคาร์บอนต่ำ มั่นใจว่าจะทำให้เกิดการพัฒนา ตอบโจทย์ในเรื่อง Smart city ตามบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ทั้งสามหน่วยงานจะทำงานส่งเสริมกัน ไม่ซ้ำซ้อน จะเป็น lesson learn ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มีต่อบทบาทที่สำคัญต่อประเทศ โดยมีภารกิจหลักที่เน้นการวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมชีวภาพ พัฒนาอย่างยั่งยืน และบริการอุตสาหกรรม ที่ขับเคลื่อนผู้ประกอบการไทยและอุตสาหกรรม เป็นระยะเวลากว่า 60 ปี จากประสบการณ์การทำงานมาอย่างยาว วว. นำปัญหาและอุปสรรคจากการทำวิจัยในห้องปฏิบัติการสู่เชิงพาณิชย์ มาพัฒนาศักยภาพ เพื่อลดข้อจำกัดของผู้ประกอบการต่อการทำธุรกิจ ในการยกระดับการผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรม มาตรฐาน การวิเคราะห์ทดสอบระดับสากล เข้าสู่การวิจัย เพื่อให้งานวิจัยของ วว. หรือ ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าเข้าสู่เชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น โดย วว. มีระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อพัฒนากลไกในการพัฒนาผู้ประกอบการ เช่น โรงงานการผลิตต้นแบบเชิงพาณิชย์ Scale up plant ได้แก่ โรงงานการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม โรงงานการผลิตเครื่องสำอาง และ โรงงานการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์อาหารและอาหารเสริม เช่น pre probiotic และโรงงานการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์จุลินทรีย์มิใช่อาหาร เพื่อการผลิตอาหารสัตว์ และรองรับระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์
"...ความร่วมมือของ วว. มรภ. และ มทร. เป็นการทำงานร่วมกันที่สำคัญ จะทำให้เกิดการบูรณาในการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ การจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศในปัจจุบัน เป็น Open Innovation ที่พร้อมขับเคลื่อนและเดินไปด้วยกัน เพื่อให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สามารถพลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต สอดคล้องกับนโยบายของท่านรัฐมนตรี..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ทั้งนี้สถานีวิจัยลำตะคอง วว. เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนางานด้านการเกษตรเพื่อตอบโจทย์เกษตรมูลค่าสูงหรือเกษตรสมัยใหม่ มีนักวิจัยทีพร้อมทำงานกับภาคเอกชน พื้นที่หรือแปลงทดลองระดับเกษตรอุตสาหกรรม และห้องปฏิบัติการด้านการเกษตรรองรับ เพื่อให้นักวิจัยหรือนักธุรกิจการเกษตรเข้ามาใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านวิทยาศาสตร์ ทั้ง Science camp พิพิธภัณฑ์แมลง และพืชพรรณหายาก นอกจากนี้ยังมีสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลของหลวง ที่ วว. ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการขยายพื้นที่เขตป่าได้จำนวนมาก จะเป็นพื้นที่วิจัยสำหรับนักศึกษาภายใต้ความร่วมมือนี้ด้วย อันจะสร้างความตระหนักและการให้ความสำคัญของงานด้าน วทน. ในด้านการเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ รวมทั้งสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อเข้าสู่สังคนยุคใหม่ของประเทศต่อไป
HTML::image(