นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าว ปี 2566 ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี โดยมีปริมาณฟางข้าว รวม 2.48 ล้านตัน ซึ่งฟางข้าวนับเป็นวัดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่สำคัญและมีปริมาณมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร ตามแนวทาง BCG Model (Bio Circular Green Economy) ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
สศท.7 ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการบริหารจัดการฟางข้าวและปัจจัยสภาพแวดล้อมเพื่อจัดทำกลยุทธ์ ในการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าว ในพื้นที่ 8 จังหวัด เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2566 โดยเก็บข้อมูลจาก 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมของแต่ละจังหวัด และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว รวม 235 ราย และได้มีการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้น เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการฟางข้าวในระดับพื้นที่ รวมถึงเกษตรกร และตัวแทนจากกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีการบริหารจัดการฟางข้าว รวมถึงผู้รวบรวมฟางข้าว และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าวในพื้นที่ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น (Focus Group) และหาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าว
สำหรับการใช้ประโยชน์และการเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าวในพื้นที่ 8 จังหวัด พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ้างอัดก้อน ฟางข้าวเพื่อจำหน่าย ร้อยละ 83.17 และเก็บฟางข้าวที่อัดก้อนไว้ใช้ประโยชน์เอง ร้อยละ 16.83 โดยเกษตรกรที่จำหน่าย ฟางข้าวอัดก้อนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 278.19 บาท/ไร่/รอบการผลิต กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ให้บริการอัดก้อนฟางข้าว และรับซื้อฟางข้าวอัดก้อนจากเกษตรกร เพื่อจำหน่ายต่อให้ผู้ใช้ประโยชน์ หรือผู้ประกอบการแปรรูปในพื้นที่ 8 จังหวัด ร้อยละ 61.01 จำหน่ายให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 33.83 และภาคใต้ ร้อยละ 5.16 ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว รับซื้อฟางอัดก้อนจากเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งในลักษณะเหมาไร่ ราคา 80 - 150 บาท/ไร่ หรือจ่ายให้เกษตรกร ตามจำนวนก้อนที่อัดได้ ราคาก้อนละ 5 - 12 บาท/ก้อน โดยจำหน่ายไปยังผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง หรือผ่านผู้รวบรวมด้วยกันต่อไป และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ส่วนใหญ่จะนำฟางอัดก้อนไปเลี้ยงปศุสัตว์ ใช้ร่วมกับพืชอาหารสัตว์ หรืออาหาร TMRสามารถลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารสัตว์ โคเนื้อและกระบือเฉลี่ย 9.95 บาท/ตัว/วัน (ลดลงร้อยละ 36) และโคนมเฉลี่ย 31.91 บาท/ตัว/วัน (ลดลงร้อยละ 78) , นำไปเป็นวัสดุคลุมดินทดแทนพลาสติกสำหรับคลุมแปลงปลูกพืชผัก หรือไม้ผล สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,299.55 บาท/ไร่/รอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 51) , นำไปเป็นอาหารปลาในรูปแบบคอนโดอาหารปลาหรือแซนวิชอาหารปลา เพื่อให้เกิดไรแดง หนอนแดง หรือแพงก์ตอน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารปลาสำเร็จรูปได้เฉลี่ย 834.96 บาท/บ่อ/รอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 58) , นำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักในนาข้าวและแปลงผักทดแทนปุ๋ยเคมี สามารถ ลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 482.28 บาท/ไร่/รอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 70) และหากนำฟางอัดก้อนไปแปรรูปเป็นถุงกระดาษใส่ของ กระถางต้นไม้ย่อยสลายได้ แผงไข่ ปอกสวมแก้ว ที่รองแก้ว สามารถสร้างรายได้เพิ่มเฉลี่ย 632.44 บาท/ก้อน
ด้านแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ 8 จังหวัด เกษตรกรควรมีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนา ต่อยอดการบริหารจัดการฟางข้าว ใช้พื้นที่รวมกันในการเก็บรวบรวมและจำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในเรื่องราคา อีกทั้ง ควรเพิ่มช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ควรพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปฟางข้าวให้มีความหลากหลายและได้คุณภาพตรงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเกษตรกรต้นแบบผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าวพร้อมสร้างมาตรการจูงใจ และขยายผล สู่เกษตรกรที่สนใจ อีกทั้ง จัดทำฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตฟางข้าว กับผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง
ทั้งนี้ ผลการสำรวจและผลการระดมความคิดเห็นดังกล่าว สศท.7 ได้นำข้อมูลไปประกอบการวิเคราะห์ และจัดทำงานวิจัย เรื่องการจัดการโซ่อุปทาน และแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกรณีศึกษาฟางข้าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยและประเมิน สศก. เพื่อขอความเห็นชอบ และจะเผยแพร่งานวิจัยฉบับสมบูรณ์ทาง www.oae.go.th และ www.zone7.oae.go.th ในช่วงปี 2567 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และวางแผนการบริหารจัดการฟางข้าวต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลเชิงลึกของงานวิจัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.7 โทร 0 5640 5005 หรืออีเมล [email protected]