นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบ รวมทั้งเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลสังกัด กทม.รองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจว่า สนพ.ได้จัดทีมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบในเด็กที่ประเทศจีนอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 และเตรียมสรุปข้อมูลสถานการณ์รายงานผู้บริหารหากมีกรณีต้องสงสัยในโรคระบาดทุกวัน โดยเน้นย้ำให้โรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดดำเนินการตามแนวทางเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์สามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ง่าย
ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจย้ำเตือนประชาชนระมัดระวังดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและครบ 5 หมู่ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ ล้างมือให้สะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี และสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่รับบริการเป็นประจำ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ "กระเป๋าสุขภาพ" แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และจองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าใน รพ.สังกัด กทม.ผ่านแอปพลิเคชัน "QueQ" หรือผ่าน "กระเป๋าสุขภาพ" แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" สามารถ โทร.สายด่วน สปสช.1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคตามฤดูกาล ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัส RSV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการรักษาตามอาการ เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ ทั้งกินและฉีด ไม่มีวัคซีน การรักษาคือ พ่นยา ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำยาลดไข้ ซึ่งได้เตรียมเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันและรักษาโรค ตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าทางเข้า รพ.ตรวจวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือให้กับประชาชนที่มารับบริการที่ รพ.รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.ในสังกัดทุกแห่ง กำหนดมาตรการการรักษาและวินิจฉัยโรค พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมและรักษาโรคไวรัส RSV เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าวภายในศูนย์เด็กเล็กฯ ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิเด็กทุกคนก่อนเข้ามาภายในศูนย์เด็กเล็กฯ หากพบจะแจ้งผู้ปกครองพาพบแพทย์ตรวจรักษาต่อไป หรือหากเด็กภายในศูนย์เด็กเล็กฯ มีอาการป่วยด้วยโรคติดต่อเจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคภายในบริเวณศูนย์เด็กเล็กฯ ทันที ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร พบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม.ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit