ถ้าพูดถึงคำว่า "โพรไบโอติก" ในปัจจุบันหลายคนคงคุ้นเคยกับคำนี้และรู้ว่าหมายถึงจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีอยู่ในร่างกาย ซึ่งคอยช่วยดูแลร่างกายให้สมดุลแข็งแรง แต่เมื่อ 15 ปีก่อนถือเป็นคำใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคยและให้ความสนใจไม่มากนัก แต่มีนักวิจัยไทยคนหนึ่งที่สนใจและมุ่งมั่นจะหาโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย ที่เหมาะสมกับคนไทยให้ได้
รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มศว หัวหน้าศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติก คณะแพทยศาสตร์ มศว เล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัยโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยเมื่อ 15 ปีก่อน ระบุว่าเรื่องเกี่ยวกับโพรไบโอติกยังไม่มีการทำวิจัยมากนัก ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงเริ่มต้นศึกษาจุลินทรีย์โพรไบโอติกโดยคัดแยกจากเด็กแรกเกิด และอาหารหมักในท้องถิ่นไทย เพื่อทดสอบและคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดีที่สามารถช่วยป้องกันและลดปัญหาสุขภาพที่มักพบในคนไทย
"โพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และอาศัยอยู่ประจำถิ่นในร่างกายมนุษย์ ตั้งแต่กำเนิด โดยได้รับมาจากมารดาและอาหารที่รับประทานเข้าไปภายหลัง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแบคทีเรีย Lactobacillus และ Bifidobacterium ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป โดยงานวิจัยเน้นการคัดเลือกชนิดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านการติดเชื้อ ลดการอักเสบ ปรับภูมิคุ้มกัน ลดคอเลสเตอรอล เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและสร้างกาบา ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของคนไทย"
หลังจากคัดแยกจนได้สายพันธุ์บริสุทธิ์ (pure culture) และทดสอบคุณสมบัติของจุลินทรีย์แต่ละสายพันธุ์จนมั่นใจแล้ว ในปีพ.ศ. 2561 ได้เริ่มมีการทดสอบในสัตว์ทดลอง (animal study) ที่มีไขมันสูงและทดสอบในอาสาสมัคร (clinical study) ที่มีปัจจัยเสี่ยงภาวะเมตาบอลิกซินโดรม พบว่าโพรไบโอติกที่คัดเลือกมามีคุณสมบัติในการลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ลดการอักเสบในตับและลำไส้ ลดไขมันพอกตับ ปรับภูมิคุ้มกัน เพิ่มการยึดเหนี่ยวเซลล์เยื่อบุลำไส้ซึ่งจะป้องกันภาวะลำไส้รั่ว ต้านอนุมูลอิสระ และปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้
นับเป็นการค้นพบโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยที่มีความเหมาะสมกับคนไทย "โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยมีอยู่ในธรรมชาติ อยู่ในอาหาร อยู่ในวิถีการรับประทานของคนไทย ถือเป็นจุลินทรีย์ที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว เราไม่ได้ดัดแปลงเขา แต่นำสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวเขามาศึกษาต่อว่าสามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้าง จากการทำงานตลอดหลายปีเราค้นพบว่าจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง" รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ เล่าถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ทำ
เมื่องานวิจัยเริ่มเห็นผล ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติกก็ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนวิจัยจากทางคณะแพทยศาสตร์ มศว และทุนจากกองทุน ววน. อย่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และอีกหลายหน่วยงาน รวมถึงเริ่มมีการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคเอกชน
"ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยให้กับทั้งหน่วยงานภาครัฐอย่าง ไบโอเทค สวทช.และบริษัทเอกชนหลายแห่ง เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่การเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับคนไทย เป็นงานวิจัยที่จับต้องได้ และสามารถนำงานวิจัยในห้องทดลองไปสู่ท้องตลาดได้จริง ทำให้เกิดรายได้ เกิด SME และ Start Up ใหม่ ช่วยขยายฐานธุรกิจ สร้างอาชีพให้กับภาคประชาชน เกิดการจ้างงาน เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยีการผลิตภายในประเทศ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีและสายพันธุ์จุลินทรีย์จากต่างประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ซึ่งเป็นหนึ่งใน BCG model และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ"
รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ได้จากการทำงานวิจัยและเกิดประโยชน์กับประเทศไทย คือ การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ "เราเชื่อว่าการทำงานวิจัยคือการสร้างคน เพราะการทำงานวิจัยเราสร้างทั้งระบบการคิด กระบวนการทำงาน สร้างวินัย ความอดทน และทัศนคติที่ดี สิ่งเหล่านี้ช่วยพัฒนาศักยภาพและส่งต่อโอกาสให้กับนักวิจัยรุ่นต่อ ๆ ไป ให้เขาได้สร้างงานและสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวมต่อไป"
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit