กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบาย MIND ดันอุตสาหกรรมไปสู่ความยั่งยืน เคาะมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านการเงิน อนุมัติสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) สินเชื่อระยะยาว 7 ปี ดอกเบี้ยต่ำอัตราร้อยละ 3 ใน 3 ปีแรก กรอบวงเงิน 1,500 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน ผ่านการลงทุนด้านเครื่องจักรและสิ่งปลูกสร้าง โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ http://i.industry.go.th/ และยืนขอสินเชื่อได้ที่ www.thaismefund.com
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย MIND 4 มิติ มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความตั้งใจในการยกระดับการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายการดูแลสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามแนวทางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (BCG) และสอดรับกับการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutral ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Zero Greenhouse Gas Emission ในปี 2065 โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) เป็นสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สูงสุดไม่เกิน 7 ปี วงเงินสินเชื่อเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาทสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ใน 3 ปีแรก ปีถัดไปคิดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำตามที่สถาบันการเงินทั่วไปเรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดี หรือ MLR โดยกำหนดกรอบวงเงินสินเชื่อรวมทั้งหมด 1,500 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนฯ ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะขอรับสินเชื่อ ต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีต้องการปรับปรุงการดำเนินงานในการดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการลงทุนด้านเครื่องจักรกล ด้านสิ่งปลูกสร้าง ด้านกระบวนการผลิต อาทิ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือการปรับมาใช้พลังงานสะอาดทดแทน โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ ต้องเป็น (1) ธุรกิจประเภทผลิตสินค้าและบริการที่มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือ (2) ธุรกิจประเภทค้าปลีกหรือค้าส่งที่มีการจ้างงานไม่เกิน 100 คน มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยเงื่อนไปเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ กำหนด
สำหรับหลักประกันในการขอรับสินเชื่อ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นผู้ค้ำประกันเต็มวงเงินและมีการใช้สินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ โดยวงเงินพิจารณาเป็นไปตามราคาที่ได้รับการประเมิน ทั้งนี้ หากเป็นการขอสินเชื่อเพื่อลงทุนในเครื่องจักรกลหรือยานพาหนะ ให้จดทะเบียนเป็นหลักประกันเต็มวงเงินตามที่ได้รับอนุมัติ ในส่วนของการลงทุนด้านสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้มีการจัดทำประกันภัยแก่หลักทรัพย์ตลอดอายุสัญญา
โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ สามารถลงทะเบียนข้อมูลสถานประกอบการได้ที่ http://i.industry.go.th/ และยืนขอสินเชื่อได้ที่ www.thaismefund.com หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit