ช่วงนี้ฝนตกหนักติดต่อกันแทบทุกวัน เป็นช่วงที่ความชื้นในอากาศมีมากและมักส่งผลกับผู้ที่มีปัญหาโรคผิวหนัง โดยเฉพาะ "ลมพิษ" ที่พบได้บ่อยมากในช่วงนี้ .... บางทีอยู่ดี ๆ ผิวเราก็มีผื่นขึ้นนูนแดงขึ้นมา หรืออาจเป็นปื้น ๆ เกาแล้วก็ยิ่งนูนยิ่งแดงจนรู้สึกร้อน ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงก็หายไป วันต่อมาก็วนกลับมามีผื่นนูนคันเหมือนเดิมอีก ถ้ามีอาการแบบนี้ละก็คุณอาจจะเป็นลมพิษแล้วก็ได้
ลมพิษ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทางคลินิก ผิวหนังจะมีลักษณะนูนขึ้นมาเป็นบริเวณกว้างมากน้อยต่างกันไป อาจมีเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดกระจายไปทั่วร่างกายก็ได้ มักจะเกิดหลังจากสัมผัสกับลม ดังนั้น ในศาสตร์การแพทย์จีนจึงเรียกว่า ผื่นลม และจากลักษณะที่เป็น ๆ หาย ๆ จึงได้มีชื่อเรียกอีกว่า ผื่นซ่อนเร้น ในบางรายอาจเกิดเป็นซ้ำได้หลายครั้ง หรือบางรายอาจไม่มีอาการเกิดซ้ำนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
ลมพิษ เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
- ลมพิษเฉียบพลัน
- ลมพิษเรื้อรัง แบ่งย่อยเป็นผื่นลมพิษที่เกิดขึ้นเองและลมพิษที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิภายนอกหรือภายในร่างกาย แรงกดทับ การขูดขีด แสงแดด การสัมผัสต่าง ๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัจจัยกระตุ้นมาจากอาหาร ยา หรือสภาวะแวดล้อม และมีส่วนหนึ่งของผู้ป่วยไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ลมพิษสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยแต่พบมากในช่วงวัยกลางคน
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในมุมมองการแพทย์แผนจีน
มาจากพื้นฐานร่างกายที่มีมาแต่กำเนิด (Congenital/??) ไม่แข็งแรง ร่วมกับสาเหตุอื่น เช่น สภาวะอากาศ อาหาร หรือสภาวะทางอารมณ์ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดลมพิษ
ประเภทของลมพิษตามหลักการแพทย์จีน แบ่งได้เป็น
- กลุ่มอาการจากลมร้อน (ความร้อน) : เมื่อเจอความร้อน ผื่นจะขึ้น ผื่นมีสีแดงจัด เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกร้อน
- กลุ่มอาการจากลมเย็น (ความเย็น) : เมื่อเจอความเย็นหรือน้ำเย็น มีผื่นขึ้น ผื่นมีสีแดงระเรื่อหรือสีขาว
- กลุ่มอาการกระเพาะและลำไส้ร้อนชื้น : ผื่นมีสีแดงสด พบเป็นบริเวณกว้าง มีอาการคันมากอาจพบโรคหรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย
- กลุ่มอาการเว่ย์ชี่อ่อนแอ : ผื่นมักมีขนาดเล็ก เมื่อมีเหงื่อออกเจอลมหรือความเย็นผื่นจะขึ้น มักจะมีเหงื่อออกมาก ไม่สบาย เป็นหวัดง่าย
- กลุ่มอาการชี่เลือดอุดกั้น : ผื่นมีสีแดงคล้ำ มักพบในบริเวณที่มีการกดทับ
- กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง : มีลมพิษเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ มาหลายเดือนหรือหลายปี มักจะมีผื่นขึ้นเมื่อร่างกายเหนื่อยล้า และผื่นปรากฏในช่วงบ่ายหรือกลางดึก
วิธีการรักษาโดยการแพทย์แผนจีน
- การใช้ยาจีน ตำรับยาเฉพาะบุคคล เน้นไปที่การบำรุงชี่ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ขจัดลมที่ก่อโรค ลดอาการคันเป็นหลัก
- การฝังเข็ม โดยจะเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณม้ามและลำไส้ใหญ่เป็นจุดหลักในการรักษา การเคาะบริเวณที่เป็นผื่นด้วยเข็มเจ็ดดาวก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง กำจัดสิ่งก่อโรคที่อยู่บริเวณผิวหนังและกล้ามเนื้อ ระบายความร้อนจากเลือด และระบายความชื้น
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยลมพิษ
- หลีกเลี่ยงอาหารทะเล อาหารรสจัด แอลกอฮอล์ อาหารที่แพ้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของหรือยาที่ทำให้เกิดอาการหนักขึ้นหรือทำให้ระคายเคืองได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่
- สอบถามข้อมูล หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่ "ทีมหมอจีน" คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว โทร 02 223 1111
- เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08:00 - 16:00 น.
- LINE OA: @huachiewtcm
- Facebook: หัวเฉียวแพทย์แผนจีนกรุงเทพ Huachiew TCM Clinic