เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง เผยแนวโน้มการลงทุนไตรมาส 4 ปี 2566 สำหรับโอกาสการลงทุนในภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในบางภูมิภาค โดยชูแนวทางการลงทุน 4 ประการ ดังนี้:
* เฟดใกล้ยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย*
เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคาดว่าธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษจะทำเช่นเดียวกันในไม่ช้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ ดังนั้น เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง จึงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางคุณภาพสูง และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในสัดส่วนมากที่สุด
*โอกาสการลงทุนในหุ้นกลุ่มใหม่ๆ*
อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงในปัจจุบัน ส่งผลบวกต่อมุมมองการลงทุนในหุ้นเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะยังคงเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เช่นเดิม แต่เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง คาดว่าหุ้นในกลุ่มใหม่ๆ นอกเหนือจากบริษัท "ยอดนิยมทั่วไป" จะมีการเติบโตไปด้วยกันกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีความยืดหยุ่นสูงและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของหุ้นในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ตลอดจนภาคการเงิน สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าสุขภาพ
แนวคิดนี้ยังรวมถึงการกระจายพอร์ตการลงทุนในประเทศอื่นด้วย ทั้งนี้ นอกจากการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสหรัฐฯ แล้ว ทีมวิเคราะห์ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนหุ้นในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และบราซิล โดยมองว่าการลงทุนในอินเดียและอินโดนีเซียมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีอันเป็นผลมาจากความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานและการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็วของอินเดีย
สำหรับทิศทางการลงทุนระยะยาว เอชเอสบีซี ไพรเวทแบงก์กิ้ง ได้เพิ่มธีมใหม่เข้ามาอีกสองธีมสำหรับการลงทุนในสหรัฐฯ จากที่เคยมุ่งเน้นไปที่การปรับตัวอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคชาวอเมริกันเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเราหันมาให้ความสำคัญกับธีมอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ตลอดจนธีมเกี่ยวกับนวัตกรรมและโอกาสในหมวดหมู่การดูแลสุขภาพของชาวอเมริกัน ทั้งนี้ มุมมองนี้ชี้ให้เห็นว่าโกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้ง มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ อีกทั้งยังเปิดกว้างสำหรับการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ อีกด้วย
*การลงทุนในการเปลี่ยนผ่านสู่การลงทุนเพื่อความยั่งยืน*
นโยบายการลงทุนภาครัฐเพื่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามนโยบายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูมิภาคมีความยั่งยืนในระยะยาวด้วย เราแนะนำการลงทุนในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริโภคพลังงาน กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสมดุลทางธรรมชาติของโลก หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างพลังงานเป็นพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชีย
*การรับมือกับความผันผวนของตลาด*
เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวท แบงก์กิ้ง แนะนำการลงทุนในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการลงทุนสูง และใช้กลยุทธ์รับมือความผันผวน เพื่อกระจายกลยุทธ์ในการสร้างผลตอบแทนของหลักทรัพย์ให้หลากหลายและลดความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในตลาด
นายวิลเลม เซลส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนระดับโลก เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ กล่าวว่า "ตราสารหนี้และหุ้นมีแนวโน้มที่เติบโตจะไปได้ดีภายหลังจากที่เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น ธนาคารเอชเอสบีซีจึงแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนแทนที่จะเก็บในรูปของเงินฝาก แต่ต้องให้ความสำคัญกับการเลือกลงทุนในกลุ่มที่มีคุณภาพสูง เช่น พันธบัตรที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงและบริษัทที่มีรายได้แข็งแกร่ง ในส่วนของทิศทางการลงทุนตามธีมนั้น เรายังคงเชื่อมั่นในการเติบโตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในเอเชีย รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ช่วยสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้เราคงมุมมองการลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสและผลตอบแทนที่ดีที่สุดจากเทรนด์ดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง"
นางฟาน ชุค วาน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชีย เอชเอสบีซี โกลบอล ไพรเวทแบงก์กิ้งแอนด์เวลธ์ เสริมว่า "จากโอกาสในการเติบโตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวในเอเชีย เราใช้วิธีกระจายการลงทุนในหลากหลายรูปแบบและมุ่งเน้นไปที่ปัจจัยแบบจำเพาะเจาะจงที่สามารถสร้างความแตกต่างในการเติบโตและนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเราให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยด้วยการเน้นที่การลงทุนในอินเดียและอินโดนีเซีย เนื่องจากเชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตเชิงโครงสร้างที่ดีในระยะยาว และสอดคล้องกับแนวคิดการลงทุน "เสือผงาดแห่งเอเชีย หรือ Asia's Rising Tigers" ของธนาคารเอชเอสบีซี นอกจากนั้น เรายังมองเห็นโอกาสการเติบโตในเอเชียที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่สำคัญ เช่น การมีผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางมากขึ้น การปรับห่วงโซ่อุปทาน นวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาเราได้ปรับการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงลดลง โดยเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตในจีนแผ่นดินใหญ่ สายการบินต่างๆ ในเอเชีย ธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทาง สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงธุรกิจเกมส์ในมาเก๊า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธีมใหม่ของเราที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชีย เนื่องจากเราเชื่อมั่นว่าธุรกิจเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวในระดับภูมิภาคและการที่มีจำนวนผู้บริโภคในภาคการบริการเพิ่มขึ้น"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit