พานาโซนิค จับมือ สถาปัตย์-วิศวะจุฬาฯ ร่วมวิจัยเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืนและประหยัดพลังงาน พร้อมค้นหา "สภาวะน่าสบายภายในบ้าน" ฉบับคนไทย

17 Oct 2023

พานาโซนิค ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน ผุดโปรเจคความร่วมมือด้านการวิจัย (Research collaboration project) ค้นหา "สภาวะน่าสบาย" ของคนไทยที่แท้จริง ชี้ภาวะน่าสบายของที่อยู่อาศัยในอนาคตต้องปราศจากความเครียด (Stress-free) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ (Carbon-free) และลดการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ปั้นโมดูลาร์จำลองเพื่อการศึกษาภาวะน่าสบายในทุกมิติ พร้อมเตรียมขยายผลวิจัยในโครงการที่อยู่อาศัยจริงโดยจับมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในอนาคต

พานาโซนิค จับมือ สถาปัตย์-วิศวะจุฬาฯ ร่วมวิจัยเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืนและประหยัดพลังงาน พร้อมค้นหา "สภาวะน่าสบายภายในบ้าน" ฉบับคนไทย

มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ด้วยแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับการสร้างสังคมที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตอย่างยั่งยืนและสอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พานาโซนิค จึงได้มุ่งมั่นศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการสร้างภาวะแวดล้อมภายในบ้านที่อยู่สบายสำหรับผู้บริโภคที่แตกต่างกันไปทั่วโลก

ปัจจุบันมีหลายองค์กรได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่า สภาวะน่าสบายเชิงอุณหภาพตามมาตรฐานสากล (ANSI/ASHRAE Standard 55) จะอยู่ที่ประมาณ 20-27 องศาเซลเซียส (หรือ 68-80 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งตัวเลขสภาวะน่าสบายสากลอยู่ที่ 26.5 องศาเซลเซียส แต่สภาวะน่าสบายนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลมที่มาปะทะตัวเรา และการแผ่ความร้อนจากสภาพแวดล้อม เป็นต้น

"พานาโซนิคเล็งเห็นว่า "สภาพแวดล้อมภายในบ้านที่อยู่สบาย" นั้น ควรมีองค์ประกอบสำคัญทั้งภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) ปราศจากความเครียด (Stress-free) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ (Carbon-free) และลดการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) จึงมีแนวคิดในการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย (Research collaboration project) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืนและประหยัดพลังงานในประเทศไทย (Sustainable and Energy-Efficient Housing Technologies in Thailand) ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยคาดหวังว่าผลของการวิจัยจะทำให้สามารถค้นพบ "สภาวะน่าสบายภายในบ้าน" สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยในอนาคตที่เหมาะกับบริบทของประเทศไทย"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อยู่อาศัย ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี Digital twin ในการบริหารจัดการอาคาร เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดบ้านที่ยั่งยืน ด้วยใช้เทคโนโลยีในการประหยัดพลังงานในประเทศไทย (Sustainable and Energy-Efficient Housing Technologies in Thailand) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สอดรับกับแผนการผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลายเป็น Sustainable City อันมีเป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อนสังคมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ประหยัดพลังงานนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

"ความร่วมมือในการจัดทำการวิจัยกับพานาโซนิคในประเทศไทยครั้งนี้ เราได้นำความเชี่ยวชาญของจุฬาฯ ทั้งจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาผนวกกับความรู้ความชำนาญทางเทคโนโลยีของพานาโซนิค ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการวิจัยไปข้างหน้าและมีส่วนช่วยในการพัฒนาโซลูชั่นและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในอนาคตได้"

ความร่วมมือดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นโมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง โดยการนำเทคโนโลยี BIM หรือ Building Information Modelling เข้ามาช่วยในการออกแบบและก่อสร้างบ้านโมดูลาร์ในชื่อ ZEN Model ขนาดพื้นที่ 36 ตารางเมตร ภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจำลองบรรยากาศที่อยู่อาศัยในสภาวะน่าสบาย และทำการเก็บข้อมูลจากการให้กลุ่มตัวอย่างได้เข้ามาทดลองใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ โดยขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 30%

มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกเหนือจากการทำการศึกษาวิจัยผ่านบ้านแบบจำลองภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว พานาโซนิคยังได้เตรียมการต่อยอดงานวิจัย ด้วยการร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการต่างๆ ซึ่งจะเริ่มมีการทดลองกับบ้านจริงหลังแรกภายในบ้านตัวอย่างของโครงการเสนา แกรนด์โฮม บางนา กม. 29 โดยร่วมกับ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร๊อพเพอร์ตี้ คอร์ป เพื่อนำผลที่ได้จากการทดลองมาพัฒนา ต่อยอดผลลัพธ์ของสภาวะน่าสบายในบ้านที่สร้างขึ้นจริงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผลการวิจัยสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์ที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันได้อย่างแท้จริง"