"โรคหัวใจ" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก ในทุก ๆ ปี มีคนกว่า 18 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โดยจากสถิติผู้ป่วยโรคหัวใจมีแนวโน้มมีจำนวนมากขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยมีอายุน้อยลง การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และเนื่องในวันหัวใจโลก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับ บริษัทโนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้จัดกิจกรรม Unblock your heart for every heart ขึ้น เพื่อให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพหัวใจอย่างจริงจัง ด้วยการสร้างความตระหนักในการดูแลหัวใจอย่างถูกต้อง ผ่านกิจกรรมให้ความรู้ มุ่งให้ทุกคนปรับพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต โดยเน้นการดูแลสุขภาพหัวใจด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ควบคุมน้ำหนัก รักษาสมดุลของความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
กิจกรรม Unblock your heart for every heart จัดขึ้นที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ร่วมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ ปัจจัยเสี่ยง และการดูแลหัวใจอย่างถูกต้อง ร่วมด้วยฐานกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบริเวณงาน เพื่อให้ความรู้มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาพหัวใจ ประกอบด้วย ฐานวัดความดันโลหิต ฐานวัดดัชนีมวลกาย ฐานวัดมวลกล้ามเนื้อและไขมัน ฐานตรวจวัดค่าไขมันในเลือด เพื่อช่วยคัดกรองความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และส่งเสริมการปรับพฤติกรรมอย่างถูกวิธีจากฐานให้ความรู้ด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยให้แก่ประชาชนผู้เข้าร่วมงาน
รศ. นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "โรคหัวใจเป็นปัญหาสำคัญของโลกมาอย่างยาวนาน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนทั่วโลก จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่า 70,000 คนต่อปี โดยเฉลี่ย 7-8 คนต่อชั่วโมง โดยโรคหัวใจมีหลายชนิด อาทิเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด เป็นต้น ซึ่งโรคที่พบบ่อยสุดและเป็นปัญหาสำคัญได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มีสาเหตุเกิดจากการสะสมของไขมัน โปรตีน และการอักเสบที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด จนทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น และตีบตันในที่สุด ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิตที่สูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ โดยมากโรคหัวใจเป็นโรคที่เกิดตามระยะเวลา จึงมักพบในกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุด แต่ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุน้อยลง จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง โรคอ้วน การออกกำลังกายน้อย ความเครียดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 30-50 ปี การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้ตรวจพบปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เร็วขึ้น"
"โรคหัวใจมีหลายประเภท แต่โรคหัวใจที่อาการรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วที่สุด คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอกจนทนไม่ไหว อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อเปิดหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ ด้วยการให้ยา หรือทำบอลลูนขยายหลอดเลือด" นพ.ธัญนพ โชติวนาวรรณ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวเสริมว่า "แต่ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแบบเรื้อรัง จะมีอาการเจ็บแน่นเหมือนโดนกดรัด และอาการเจ็บอาจร้าวจากทรวงอกขึ้นมาที่ไหล่ซ้ายจนถึงกราม และปวดร้าวจนถึงบริเวณต่ำกว่าใบหู อาการปวดอาจลามลงไปจนถึงบริเวณเหนือสะดือ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อโดนกระตุ้นด้วยการออกกำลัง หรือแม้แต่การเดิน การขึ้นลงบันไดก็อาจกระตุ้นให้มีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และรับประทานยาเพื่อป้องกันไขมันเกาะในเส้นเลือดไปตลอดชีวิต"
"โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งต้องอาศัยการตรวจสุขภาพจึงจะรู้ได้ เพราะไม่มีอาการบ่งบอก โดยมากสามารถตรวจพบปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง ก็อาจพบได้เร็วขึ้น หากผู้ป่วยปล่อยให้ระดับไขมันในเลือดสูง ก็จะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต โดยเฉพาะไขมัน LDL-C ซึ่งหากมีปริมาณสูงเป็นเวลานาน หลอดเลือดอาจเกิดอาการตีบและตันได้ การลด LDL-C ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในระยะยาวจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ กรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน อาจต้องควบคุม LDL-C ให้ต่ำกว่า 100 มก./เดซิลิตร ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ร่วมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยลดปริมาณ LDL-C ในเลือดได้" รศ. พญ.อิงอร อรุณากูร อายุรแพทย์ โรคหัวใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าว
ด้าน พญ.ธิดา ศรีรัตนา ทาบูกานอน อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า "ปลายทางของโรคหัวใจ คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้จากอาการเหนื่อย เช่น ทำกิจกรรมเดิม ๆ เหมือนที่เคยทำแต่รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น หากรักษาได้ทันเวลา กล้ามเนื้อหัวใจไม่เสียหาย ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับมามีสุขภาพหัวใจปกติได้ เพราะปัจจุบันมียานวัตกรรมที่สามารถรักษาโรคหัวใจล้มเหลวหลายชนิดที่ช่วยลดการเสียชีวิต ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล และช่วยให้หัวใจดีขึ้นได้ บางครั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเกิดอาการหัวใจล้มเหลวจากปัจจัยเสี่ยงที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ไม่ตรวจสุขภาพ ใช้ชีวิตแบบไม่ระวัง เช่น สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ไม่ระมัดระวังการรับประทานอาหาร ทำให้โรคดำเนินไปเรื่อย ๆ จนหัวใจล้มเหลวและอาจเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นการป้องกันโรคหัวใจที่ดีที่สุดคือ การตรวจสุขภาพเพื่อวัดระดับความเสี่ยง ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เลือกรับประทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค เพียงเท่านี้หัวใจสุขภาพดีก็จะอยู่กับเราไปได้อีกนาน"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit