ปัจจุบันคนไทยที่ป่วยด้วยโรคจิตเวชมีไม่น้อย ขณะที่ผู้ป่วยบางรายรู้ตัวว่าตนเองป่วย บางรายก็ไม่รู้ตัว ที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้ป่วยบางรายยังสับสนในอาการป่วยทางจิตเวชบางโรค และเข้าใจผิดคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคทางกาย
โรคจิตเวช คือกลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่าง ๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือบางคนรู้แต่ไม่มาพบแพทย์ ทำให้อาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต โดยโรคจิตเวชที่พบบ่อยการสังเกตอาการคนรอบข้างรวมถึงตัวเองเกี่ยวกับโรคจิตเวชเป็นเรื่องสำคัญ หากพบความผิดปกติหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษาก่อนอาการรุนแรง โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้สังเกตตนเอง รวมถึงการสังเกตคนรอบข้างว่าเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยหรือไม่ สู่การรับมือและการรักษาที่ถูกต้อง โดยครั้งนี้เป็นการนำเสนอ 10 โรคจิตเวชสำคัญที่ควรรู้
1.โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder)
เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่ายเป็นต่อเนื่องกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ ความรู้สึกไร้ค่าเป็นภาระ พฤติกรรมการทานอาหารและการนอน เปลี่ยนไป เหนื่อยเพลีย ไม่มีสมาธิในการทำงาน บางรายอาจมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ความสำคัญของโรคนี้คือผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง
2.โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
อาการที่เด่นชัด คือ กังวลหรือคิดเรื่องเดิมซ้ำๆ หยุดความคิดที่เกิดขึ้นไม่ได้จนรบกวนชีวิตประจำวัน อาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดตึงต้นคอ ใจสั่น อ่อนเพลีย นอนหลับได้ยาก มีอาการอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งโรควิตกกังวลสามารถแบ่งประเภทได้ เช่น โรคกังวลกับทุกเรื่อง (Generalized Anxiety Disorder), โรคแพนิค (Panic Disorder), โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder), โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia), โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) สาเหตุส่วนมากมักเกิดจากการเลี้ยงดูหรือประสบการณ์ในชีวิตก่อนหน้าที่ไม่สามารถจัดการได้ รักษาโดยการใช้จิตบำบัดเป็นหลัก อาจควบคู่ไปกับการทานยาเพื่อควบคุมอาการ
3.โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
มีอารมณ์เศร้าที่เข้าได้กับภาวะซึมเศร้ายาวนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และมีช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ นอนน้อย วอกแวกง่าย ความคิดแล่นเร็วอยากทำหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน ใช้เงินเก่งขึ้น มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขับรถเร็ว เล่นการพนัน แบบที่ผิดไปจากบุคลิกเดิม โดยช่วงอารมณ์ดี เป็นต่อเนื่องกันทุกวันอย่างน้อย 4 วัน การรักษาเป็นการทานยาควบคุมอารมณ์ การทำจิตบำบัด การปรับการใช้ชีวิต เช่น การเข้านอนเป็นเวลา การทานยา เป็นต้น
4.โรคจิตเภท (Schizophrenia)
โรคจิตเภทมีความซับซ้อนและรุนแรงในกลุ่มโรคจิตเวชด้วยกัน โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความคิด อารมณ์ การรับรู้ และพฤติกรรมที่แปลกไป เช่น มีอาการหลงผิด หูแว่ว ภาพหลอน ความคิดไม่เชื่อมโยง มีพฤติกรรมแปลกไป หรือในบางรายจะมีอาการหน้านิ่งไม่แสดงความรู้สึก อารมณ์เฉยเมย ไม่ค่อยพูด อาการมักเป็นต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือน และต้องไม่มีสาเหตุทางกายที่อธิบายอาการข้างต้นได้ สาเหตุมาจากพันธุกรรม จากสิ่งแวดล้อม และการตอบสนองต่อความเครียดไม่ได้ การรักษาส่วนมากเป็นการให้ยาเพื่อควบคุมอาการ ในรายที่มีอาการหนักแต่ควบคุมอาการได้ดีขึ้น อาจมีการฝึกทักษะการใช้ชีวิตเพิ่มเติม
5.โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder)
มีพฤติกรรมทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำไปซ้ำมาเพื่อให้เกิดความสบายใจถึงอย่างนั้นผู้ป่วยก็ไม่สามารถหยุดสิ่งที่ทำอยู่ได้ เช่น คอยดูว่าปิดไฟห้องน้ำหรือไม่ถึงแม้ว่าจะเห็นว่าปิดไปแล้วก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากการการมีความกังวลอาจมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น โดยไม่สามารถห้ามความคิดเหล่านั้นได้ การมีพฤติกรรมทำอะไรบางอย่างก็เพื่อจะลดความกังวลนั้น ส่วนมากมักพบในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อาจพบภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยได้ การรักษาใช้การทำจิตบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy เป็นหลัก แต่สามารถใช้ยาควบคุมความกังวลร่วมกันได้ในรายที่ควบคุมอาการด้วยตนเองไม่ได้
6.โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder)
เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์คุกคามที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือเผชิญเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่มีความเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งความเครียดเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อาการของโรค PTSD คือ รู้สึกเหมือนเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำ เช่น มีอาการฝันร้าย ฝันถึงเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ , มีพฤติกรรมพยายามหลีกเลี่ยงกับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น ไม่ไปในสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ พยายามไม่พูดถึง, อารมณ์หรือการคิดเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ เช่น รู้สึกห่างเหิน ไม่ยินดียินร้าย ไม่สามารถรู้สึกด้านบวกได้, ตื่นตัวมากเกินปกติ เช่น นอนไม่หลับ กลัวหรือตกใจ ง่ายกว่าปกติ, นอกจากนี้ยังอาจเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า การติดแอลกอฮอล์ เป็นต้น การรักษา PTSD ต้องเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาการรักษาที่เร็วและอาการยังไม่มากจะช่วยจัดการ อาการที่เกิดขึ้นได้ดี
7.โรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder; ADHD)
เป็นภาวะการทำงานบกพร่องของสมองที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ 3 ด้าน คือ ขาดสมาธิ ไม่นิ่งหรือซนมากกว่าปกติ ขาดการยั้งคิด โดยอาการมักเป็นในทุกสถานการณ์ เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน เป็นต้น สาเหตุของโรคส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรค เด็กจะมีโอกาสมากขึ้น 4-5 เท่า และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น มารดามีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ได้รับสารตะกั่ว สูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา การรักษาโดยการปรับสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมให้ง่ายต่อการมีสมาธิ ให้ความรู้ผู้ปกครองและครูเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กอาจรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมองและทำให้เด็กนิ่งและมีสมาธิมากขึ้น
8.โรคการกินผิดปกติ (Eating Disorder)
ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ได้ส่งผลดีต้อสุขภาพ หมกมุ่นกันเรื่องอาการ น้ำหนัก รูปร่าง เช่น Anorexia Nervosa ผู้ป่วยจะกลัวน้ำหนักขึ้น มองแต่คนรอบข้างบอกว่าผอมมากทำให้ไม่ทานอาหาร เลือกทานอาหารที่พลังงานต่ำ ออกกำลังกายหนัก , Bulimia Nervosa จะมีลักษณะกลัวน้ำหนักขึ้นเช่นเดียวกันแต่มีพฤติกรรมกินอาหารในปริมาณมากหลังจากนั้นจะรู้สึกผิดและจัดการความรู้สึกผิดโดยการกระตุ้นให้
อาเจียน หรือออกกำลังกายหนัก โรคการกินผิดปกติส่งผลมากต่อภาวะสุขภาพกาย อาจทำให้เกลือแร่/สารอาหารบางอย่างไม่เพียงพอ และมักมีภาวะซึมเศร้าร่วงมด้วย การรักษาใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย รวมไปถึงการทำจิตบำบัด การทานยาลดอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ร่วมกันการดูแลสุขภาพโดยแพทย์โภชนาการ
9.ความผิดปกติของบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder)
อาการที่พบ เช่น อารมณ์แปรปรวนไม่คงที่ กลัวการถูกทอดทิ้งไม่สามารถคงความสัมพันธ์กับใครคนหนึ่ง ได้ยาวนานอารมณ์รุนแรงควบคุมตนเองไม่ได้ มีพฤติกรรมทำร้ายตนเองหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย เพื่อบรรเทาความรู้สึกว่างเปล่าในใจ มองว่าตนเองไร้ค่า ส่วนมากมักพบในวัยรุ่น
10.ความผิดปกติในการใช้สาร (Substance-Used Disorder)
โรคความผิดปกติในการใช้สาร มีลักษณะคือยังคงใช้สารชนิดนั้นต่อเนื่อง แม้จะทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ ไม่สามารถควบคุมตนเองในการใช้สารได้ มีความอยากใช้สาร ใช้สารมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม ใช้เวลาในการหาสารและใช้สาร จนเกิดผลกระทบต่อการทำงานหรือความสัมพันธ์ พยายามเลิกใช้สารแต่เลิกไม่ได้ ส่วนมากบุคคลที่มีความผิดปกติจากการใช้สารมักมีภาวะอื่นๆทางจิตเวชร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือ .โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ การรักษาคือการทำพฤติกรรมบำบัด ร่วมกับการให้ยารักษาภาวะทางจิตเวชที่เกิดขึ้น ผลของการรักษาต้องใช้ความร่วมมือกันของตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว/สังคมรอบข้าง และแพทย์หรือทีมที่ให้การบำบัดรักษา และโดยพื้นฐานของโรคมีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำสูง การให้กำลังใจ ชื่นชมผู้ป่วย เป็นสิ่งที่คนรอบข้างทำให้ได้
แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล
จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit