ไบรอล (Birol) ไกด์นำเที่ยวในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งพูดภาษาจีนได้ เปิดเผยว่า สำหรับเขาแล้ว ชาดำถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน อันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ไบรอลเท่านั้น แต่สำหรับครอบครัวชาวตุรกีทั่วไปแล้ว การเตรียมชาดำโดยใช้กาน้ำชาแบบพิเศษที่เรียกว่า "caydanl?k" ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว
ไบรอลเปิดเผยว่า ชาวตุรกีดื่มชาดำตั้งแต่มื้อเช้าไปจนถึงมื้อเย็น นอกจากนั้นชาดำยังเป็นเครื่องดื่มตามธรรมเนียมสำหรับการต้อนรับแขกและการจัดงานรื่นเริงอีกด้วย
ในประเทศตุรกีนั้น ชามีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าสองศตวรรษ และได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งหยั่งรากลึกในชีวิตประจำวันของผู้คน ปัจจุบัน ตุรกีเป็นหนึ่งในผู้บริโภคชาอันดับต้น ๆ ของโลก
นัยสำคัญดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำให้เด่นชัดยิ่งขึ้น เมื่อตุรกีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีน ด้วยประเพณีการดื่มชาที่สืบสานมาแต่โบราณ ตุรกีมองว่าข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้เปิดประตูสู่การยกระดับการแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรม
นอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อตุรกีแล้ว นับตั้งแต่จีนนำเสนอข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเมื่อปี 2556 โครงการนี้ก็มีบทบาทสำคัญในการระดมทรัพยากร เสริมสร้างการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ และปลดล็อกโอกาสในการเติบโตมากมาย
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การค้าและการลงทุนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2556-2565 ยอดนำเข้าและส่งออกรวมระหว่างจีนกับประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีมูลค่าสูงถึง 19.1 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 6.4% จากรายงานสมุดปกขาวของสำนักสารสนเทศแห่งคณะมุขมนตรีจีน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม
ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 กว่า 80 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศได้รับรองข้อริเริ่มของจีนว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าที่ไม่มีข้อจำกัดตามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (China's Initiative on Promoting Unimpeded Trade Cooperation Along the Belt and Road) นอกจากนี้ จีนได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี 21 ฉบับ ร่วมกับ 28 ประเทศและภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงทางการค้าภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ตลาดชาทั่วโลกเจริญรุ่งเรือง
การส่งออกชาของจีนเติบโตอย่างมั่นคงในปี 2565 โดยจีนส่งออกชารวม 375,300 ตัน เพิ่มขึ้น 1.59% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการเปิดเผยของสำนักงานศุลกากรจีน
เมื่อแบ่งตามประเภทของชา จีนส่งออกชาเขียว 313,900 ตัน คิดเป็น 83.6% ของการส่งออกชาทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่การส่งออกชาดำและชาอู่หลงคิดเป็นสัดส่วน 8.9% และ 5.2% ตามลำดับ
ประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางต่างส่งออกชาเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ประเทศเคนยา ซึ่งส่งออกชา 1.4 ล้านกิโลกรัมมายังจีนในปี 2565 จากการรายงานของคณะกรรมการอุตสาหกรรมชาแห่งสมาคมส่งเสริมความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างประเทศของจีน
ในฐานะผู้ผลิตชารายใหญ่ เคนยาผลิตชาได้มากกว่า 450 ล้านกิโลกรัมต่อปี โดยอุตสาหกรรมชาคิดเป็นสัดส่วนราว 23% ของรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั้งหมดของเคนยา จากการรายงานของคณะกรรมการชาแห่งเคนยา นอกจากนี้ อุตสาหกรรมชายังหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนชาวเคนยาราว 5 ล้านคนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในประเทศที่มีประชากรรวมทั้งสิ้น 53 ล้านคน
ในปีนี้ เคนยาคาดการณ์ว่ายอดส่งออกชาจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีการส่งออกชาดำออร์โธดอกซ์และชาดำเคนยาไปยังจีนเพิ่มมากขึ้น จากการรายงานของสำนักงานเกษตรและอาหารแห่งเคนยา
นอกเหนือจากชาแล้ว การค้าขายสินค้าอื่น ๆ ระหว่างทั้งสองประเทศก็เฟื่องฟูเช่นเดียวกัน โดยได้รับอานิสงส์จากทางรถไฟขนาดมาตรฐานมอมบาซา-ไนโรบี (Mombasa-Nairobi Standard Gauge Railway) ที่เปิดให้บริการในปี 2560 ในฐานะผลสำเร็จแรก ๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยรถไฟดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเทกองไปยังพื้นที่ห่างไกลอย่างราบรื่น ตลอดจนช่วยปรับปรุงโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน พร้อมมอบวิธีการขนส่งสินค้าเทกองที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และคุ้มทุน
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 การค้าผลิตภัณฑ์อาหารของจีน (รวมถึงชา) กับกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีมูลค่าสูงถึง 5.5382 แสนล้านหยวน (7.61 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และพุ่งขึ้น 162% เมื่อเทียบกับปี 2556
ในปี 2565 การค้าผลิตภัณฑ์อาหารของจีนกับกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีมูลค่าสูงถึง 7.8631 แสนล้านหยวน พุ่งขึ้น 135.3% เมื่อเทียบกับปี 2556 จากการรายงานของสำนักงานศุลกากรจีน
ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ จีนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมากกว่า 200 ฉบับ ร่วมกับ 152 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 32 แห่ง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้การค้าผลิตภัณฑ์อาหารมีความหลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น
เส้นทางค้าชาโบราณ ส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมชา
ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน วัฒนธรรมชาของจีนมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการค้าตามเส้นทางโบราณต่าง ๆ เช่น เส้นทางค้าชา-ม้า (Tea Horse Road) ที่เริ่มต้นในมณฑลเสฉวนและยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน คดเคี้ยวไปตามเชิงเขาฝั่งตะวันออกของเทือกเขาเหิงต้วน (Hengduan) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตชาของจีน ก่อนที่จะขยายไปยังอินเดียซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาหิมาลัย
อีกหนึ่งเส้นทางประวัติศาสตร์คือเส้นทางค้าชาโบราณที่มีต้นกำเนิดในเทือกเขาอู่อี้ (Wuyi) ในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และทอดยาวประมาณ 13,000 กิโลเมตร ประกอบด้วยเส้นทางการค้าและคาราวานที่ลดเลี้ยวไปมาในจีนไปจนถึงยุโรป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ชาจีนในต่างแดน
เส้นทางค้าชาโบราณสายนี้เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญซึ่งผสานการขนส่งทางน้ำและทางบกเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าชาและตอบสนองความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน รวมถึงรัสเซียและยุโรป จากการเปิดเผยของศาสตราจารย์หวง ไป่เฉวียน (Huang Baiquan) จากวิทยาลัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัยหูเป่ย
ศาสตราจารย์หวงกล่าวว่า เส้นทางการค้าดังกล่าวครอบคลุมภูมิประเทศและสภาพอากาศที่หลากหลาย นับเป็นการผสมผสานกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันได้อย่างกลมกลืน และตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเส้นทาง
เส้นทางการค้าดังกล่าวมีความสอดคล้องกับเส้นทางภาคเหนือของแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมของจีน และเป็นส่วนสำคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้ในหลายมิติระหว่างจีนตอนใต้และตอนเหนือ รัสเซีย และยุโรป
ศาสตราจารย์หวงกล่าวว่า ในกระบวนการปลูกชา รวมถึงการแปรรูป การขนส่ง การค้า และการบริโภคนั้น ประชาชนหลากเชื้อชาติและหลายประเทศตลอดเส้นทางค้าชาโบราณได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และสืบสานวัฒนธรรมชาที่มีชีวิตชีวาและหลากหลายจากรุ่นสู่รุ่น
https://news.cgtn.com/news/2023-10-14/Diffusion-of-tea-and-its-culture-along-the-Silk-Road-1nTdXYsPlYY/index.html
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2247550/CGTN.jpg
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit