สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร. 12 สงขลา) เตือนผู้ที่นำเข้าสัตว์ปีกจากต่างประเทศ และกลุ่มเพาะเลี้ยงไก่ชน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลายสัตว์ปีกโดยตรง โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย เน้นย้ำนักเลงไก่ชน เลี่ยงการดูดเสมหะไก่ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายจำนวนมาก รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาสมัครปศุสัตว์ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เน้นห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ มารับประทานหรือชำแหละขาย
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในประเทศไทยเคยมีรายงานการระบาดของผู้ป่วยไข้หวัดนกในคน เมื่อปี 2547 (17ราย), 2548 (5ราย) และ 2549 (3ราย) รวมเคยพบผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย โดยปัจจุบันไม่พบผู้ป่วยในประเทศ แต่จะมีรายงานจากองค์การอนามัยโลกว่าพบผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จากหลาย ๆ ประเทศอย่างใกล้ชิด
โรคไข้หวัดนก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) ที่พบในสัตว์ปีกซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และสายพันธุ์ H5N1 และ H7N9 สามารถติดต่อสู่คนได้ โดยพบเชื้อได้ในสารคัดหลั่งของสัตว์ปีก จากจมูก ปาก ตา และมูลของสัตว์ปีก ระยะฟักตัวหลังได้รับเชื้อ โดยเฉลี่ย 2-5 วัน นานสุด 17 วัน นอกจากสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อโดยตรงแล้ว ยังสามารถติดต่อจากการสัมผัสอุปกรณ์หรือสิ่งของที่อาจปนเปื้อนเชื้อ โดยส่วนใหญ่หากสัตว์ปีกติดเชื้อไวรัสกลุ่มที่ก่อโรครุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza; HPAI) เช่น เชื้อสายพันธุ์ H5N1 จะทำให้พบสารคัดหลั่งออกมาจำนวนมาก ซึ่งคนอาจรับเชื้อได้ผ่านทางเดินหายใจ จากสารคัดหลั่งที่ฟุ้งกระจายเป็นละอองฝอยในอากาศ รวมถึงการนำมือที่สัมผัสเชื้อมาลูบจมูก ตา หรือปาก
อาการของโรคไข้หวัดนกที่พบ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และอาจพบอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง หรือชักเกร็งได้ อัตราป่วยตาย ร้อยละ 53 และยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เยื่อบุตาขาวอักเสบอย่างอ่อน อาการทางเดินหายใจส่วนต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนถึงปอดอักเสบเสียชีวิต เน้นย้ำ ต้องปรุงอาหารประเภทสัตว์ปีกและไข่ให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ห้ามนำไปรับประทาน/ชำแหละขาย หรือให้สัตว์อื่นกิน ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ปีกและสารคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณที่เลี้ยง/พบสัตว์ปีก หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
HTML::image(
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit