ไทยส่งเสริมบทบาทสตรีในภาคเกษตร ผลักดันความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ในเวที CFS ครั้งที่ 51

01 Nov 2023

นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 51 (Committee on World Food Security: CFS) ระหว่างวันที่ 23 - 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยมี Mr. Gabriel Ferrero ประธาน CFS ทำหน้าที่ประธานการประชุม พร้อมด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 128 ประเทศ และที่ไม่ใช่สมาชิกจำนวน 10 ประเทศ รวมถึงหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ องค์กรประชาสังคม หน่วยงานด้านการเกษตรระหว่างประเทศ ภาคเอกชนและผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในส่วนของประเทศไทย มีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์

ไทยส่งเสริมบทบาทสตรีในภาคเกษตร ผลักดันความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ในเวที CFS ครั้งที่ 51

การประชุมดังกล่าวได้หารือกันในหัวข้อ "สร้างความแตกต่างในด้านความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ (Making a Difference in Food Security and Nutrition)" เพื่อผลักดันและมุ่งเน้นการประสานนโยบายเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตอาหาร ความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทของสตรีและเด็กผู้หญิง ความผันผวนของราคาต่อความมั่นคงอาหาร และการคุ้มครองทางสังคมเพื่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ โดย Mr. Ant?nio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา มีประชากรโลกประมาณ 691-783 ล้านคน ที่กำลังเผชิญกับภาวะความอดอยาก หิวโหย และมีประชากรมากกว่า 3.1 พันล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ความร่วมมือโดยสามัคคีในระดับนานาชาติมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนในด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืน นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการโลกสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ Mr. Qu Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่ของ FAO กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร โดย FAO พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ สนับสนุนประเทศสมาชิกเพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว พร้อมเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรในครัวเรือน เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มเปราะบางในทุกภาคส่วนของโลก โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้าง 4 เป้าหมายที่ดีกว่าเดิม (4 Betters) ในด้านการผลิต ด้านโภชนาการ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านคุณภาพชีวิต

สำหรับ Mr. Gabriel Ferrero ประธาน CFS ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตอาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้น มีแนวโน้มจะ แย่ลง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบเกษตรกรรม ซึ่งจะส่งผลระยะยาวแก่เกษตรกรรายย่อย แรงงานในภาคการเกษตร และกลุ่มสตรี ดังนั้น ทั่วโลก จึงควรเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 2 (ยุติความหิวโหย) ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อ SGDs รวมถึงได้ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก ดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายต่อการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรรายย่อย และเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างระบบความร่วมมือพหุภาคีเพื่อธรรมาภิบาลระดับโลกสำหรับการรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว

โอกาสเดียวกันนี้ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นางเบญจวรรณ ศิริโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ) ได้กล่าวให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิงว่า ประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญของสตรีในภาคเกษตร ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรและเศรษฐกิจฐานราก โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีการยกระดับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรและเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) และสามารถเป็นต้นแบบของชุมชนและเกษตรกรรายอื่นต่อไป นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมุ่งพัฒนาศักยภาพสตรีและเด็กผู้หญิง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และมีชีวิตที่มั่นคง ตลอดจนให้การสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบ และส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการให้ความรู้ในด้านการวิเคราะห์และวางแผนฤดูการเพาะปลูก ส่งเสริมความรู้ด้านการตลาด พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มการผลิตและการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการในระดับชุมชน โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่เกษตรกรสตรีได้รับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในด้านรายได้ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรสตรีสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ CFS เป็นเวทีประชุมระหว่างประเทศและระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิก เพื่อหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทุกภาคส่วน (Multi-stakeholders) ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ด้านอาหารและโภชนาการ สำหรับประธาน CFS ในปีนี้ คือ Mr. Gabriel Ferrero ดำรงตำแหน่งครบวาระ 2 ปี ในที่ประชุมจึงได้มีการเลือกตั้งประธานคนใหม่ คือ Ms. Nosipho Nausca-Jean Jezile ผู้แทนถาวรสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ประจำสหประชาชาติ ในกรุงโรม เพื่อดำรงตำแหน่งประธาน CFS สำหรับปี 2567 - 2568 และประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นคณะกรรมการรอง (Alternate Member) ในคณะกรรมการบริหารผู้แทนประเทศสมาชิก ของภูมิภาคเอเชีย ร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย เป็นวาระ 2 ปี โดยจะมีบทบาทในการบริหารงานด้านวิชาการร่วมกับประธาน CFS คนใหม่ตลอด 2 ปีข้างหน้า