อาจารย์ ดร.ภูมิน นุตรทัต คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ จับมือ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันสำรวจและศึกษาวิจัยจนค้นพบ "เห็ดกรวยส้มทักษิณา" เห็ดชนิดใหม่ของโลก ซึ่งจัดอยู่ในสกุล Gloeocantharellus ที่ขึ้นอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จากความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ คาดว่าจะพบเห็ดชนิดใหม่อีกหลายชนิดที่รอการยืนยันและการศึกษาเชิงลึกต่อไป
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลฐานชีวภาพภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบระบบนิเวศป่าสาคู ซึ่งอยู่ภายใต้หัวข้อวิจัย "เห็ดป่าในป่าสาคูจังหวัดพัทลุงสู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาต่อยอดทางอุตสาหกรรมเกษตร" เพื่อศึกษาความหลากชนิดของเห็ดในป่าสาคู ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ประจำปีงบประมาณ 2566 จากมหาวิทยาลัยทักษิณ
ทีมวิจัยยังได้สำรวจความหลากชนิดของเห็ดเบื้องต้นในรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และจากการสำรวจและวิจัยของทีมวิจัยได้ค้นพบเห็ดชนิดใหม่ของโลก "เห็ดกรวยส้มทักษิณา" ซึ่งจัดอยู่ในสกุล Gloeocantharellus ที่เป็นเห็ดเอกโตไมคอร์ไรซากับพืชถิ่นของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Gloeocantharellus thailandensis" ทั้งยังเป็นการรายงานครั้งแรกของเห็ดสกุลนี้ในประเทศไทยอีกด้วย
ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้ใช้หลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ในการบ่งบอกชนิดเห็ดสกุลนี้ จากข้อมูลสัณฐานวิทยาร่วมกับศึกษาข้อมูลทาง DNA ของลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนไรโบโซม internal transcribed spacer (ITS) และ large subunit (LSU) รวมถึงการใช้ลำดับนิวคลีโอไทด์ของโปรตีนในส่วน mitochondrial ATPase subunit 6 เพื่อใช้ศึกษาแผนภูมิวิวัฒนาการของเห็ดสกุลนี้ จนสามารถยืนยันได้ว่าเห็ดที่ศึกษานี้เป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลก
ปัจจุบันเห็ดสกุล Gloeocantharellus มีรายงานการค้นพบแล้ว 19 ชนิดทั่วโลก โดยเห็ดชนิดใหม่ที่ค้นพบในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ถือเป็นชนิดที่ 20 ที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสมาชิกใหม่ของโลก และงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ในหัวข้อ "Gloeocantharellus thailandensis (Gomphaceae, Gomphales), a new macrofungus from southern Thailand"
จากการศึกษาความหลากชนิดของเห็ดเบื้องต้นในครั้งนี้ยังพบเห็ดที่คาดว่าเป็นเห็ดชนิดใหม่อีกหลายชนิดในรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่รอการยืนยันชนิดและการศึกษาเชิงลึกต่อไป
การพบเห็ดชนิดนี้อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ถือเป็นการสะท้อนบ่งบอกว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศเป็นอย่างดี และสมควรที่จะต้องดูแลรักษาไว้ โดยมหาวิทยาลัยทักษิณสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และสนับสนุนการจัดการพื้นที่สีเขียวภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังคงเป็นพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาวิทยาลัยทั้งหมด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit