คกอช. เห็นชอบแผนการจัดการขยะอาหาร และแผนโภชนาการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1

12 Jan 2024

คกอช. เห็นชอบแผนการจัดการขยะอาหาร และแผนโภชนาการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 มุ่งลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร คนขาดแคลนอาหาร และคนที่มีภาวะทุพโภชนาการ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ (คกอช.) ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) แผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566-2573) (ร่าง) แผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นเลขานุการ นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นเลขานุการร่วม นายเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการ อย. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และนางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รอง เลขาธิการ มกอช. เป็นผู้ช่วยเลขานุการร่วม เข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

คกอช. เห็นชอบแผนการจัดการขยะอาหาร และแผนโภชนาการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่า ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566-2573) จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี พ.ศ. 2573 และ (ร่าง) แผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหารและลดขยะอาหาร ซึ่งเป็นกรอบและทิศทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) จัดทำโดยกรมอนามัย

แผนทั้งสองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติให้บรรลุผลตามเป้าหมายระดับชาติภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) กล่าวคือ ปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารลดลง จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง และจำนวนคนที่มีภาวะทุพโภชนาการ (ขาดและเกิน) ลดลง และตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายย่อย 12.3 ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

และเป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานซึ่งขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง 4 คณะ ตามยุทธศาสตร์แต่ละด้าน ที่สำคัญ เช่น ความก้าวหน้าการจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือนระดับจังหวัด "โครงการประเมินความสูญเสียอาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารระดับชาติ เพื่อจัดทำเส้นฐานจำแนกมาตรการลดการสูญเสียโดยตลอดห่วงโซ่คุณค่า และรายงานผลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12.3.1"

การดำเนินงานตัวชี้วัดความชุกของความไม่มั่นคงทางอาหารระดับรุนแรงในประชากรไทย โดยใช้ Food Insecurity Experience Scale (FIES) ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่; ความก้าวหน้าการจัดทำแผนบูรณาการขับเคลื่อนการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร และการศึกษารูปแบบและกลไกการบริหารจัดการการกล่าวอ้างประสิทธิผลของสินค้าเกษตรและอาหารที่มีผลต่อสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร; ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย และการพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี; ความก้าวหน้าของการจัดทำ "โครงการศึกษารูปแบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนการจัดการอาหารของประเทศ"ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านการบริหารจัดการ

"ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล จึงขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมมือและประสานการทำงานให้เป็นระบบ โดย ยึดหลักให้ประเทศไทย มีความมั่นคงด้านอาหาร และโภชนาการ อย่างยั่งยืน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

HTML::image(