กทม.เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ขยายเวลารับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ถึง 29 ก.พ.นี้

10 Jan 2024

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในท้องที่เขตกรุงเทพฯ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ.2562 ว่า การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 ซึ่ง สวพ.ตระหนักถึงหลักการและความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้แสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด ซึ่งมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นมากกว่า 50 ครั้ง และมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 7,000 คน และหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายผังเมืองเป็น พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 กทม.ได้ปรับปรุงร่างผังเมืองรวมที่ได้จัดทำไว้ ได้แก่ แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และแผนผังแสดงโครงการสาธารณูปโภค รวมถึงได้จัดทำแผนผังแสดงผังน้ำ และแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้น จากนั้นได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนก่อนมีร่างผังเมืองรวม ด้วยการประชุมร่วมกับกลุ่มจังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหารือแนวทางวิธีการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) และอื่น ๆ หลังจากนั้น กทม.ได้เสนอร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความเห็นและนำมาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์ วิธีการที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ

กทม.เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ขยายเวลารับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ถึง 29 ก.พ.นี้

ในการดำเนินการดังกล่าว กทม.มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ โดยได้ประชาสัมพันธ์และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรายกลุ่มเขตทั้งหมด 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 23 - 24 ธ.ค.66 และจัดประชุมใหญ่ ณ ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย - ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมีความทั่วถึงและครอบคลุมกลุ่มประชาชนทุกภาคส่วนให้มากที่สุด นอกจากนั้น ยังได้กำหนดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือ เพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยสามารถยื่นด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์ไปที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม.เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กทม. 10400 จนถึงวันจันทร์ที่ 22 ม.ค.67 หรือยื่นผ่านเว็บไซต์ สวพ. (webportal.bangkok.go.th/cpud) อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 7 ครั้ง มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ กทม.จึงได้ขยายระยะเวลาการแสดงความคิดเห็นออกไปจนถึงวันที่ 29 ก.พ.67 และจะได้รวบรวมข้อคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและนำเสนอคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จัดทำขึ้นเพื่อชี้นำการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย (Public Safety) มีสุขอนามัย (Public Health) และมีสวัสดิภาพของสังคม (Public Welfare) ผ่านการควบคุมและส่งเสริมการพัฒนาเมืองด้วยแผนผัง ข้อกำหนด และมาตรการทางด้านผังเมือง โดยมุ่งหวังให้กรุงเทพมหานครใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการของรัฐ มีความสมดุลระหว่างที่พักอาศัย พาณิชยกรรม และแหล่งงาน ลดระยะการเดินทาง ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง มีระบบคมนาคมสมบูรณ์ และเป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี

HTML::image(