"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้นสู่เกณฑ์ 'ร้อนแรง' นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากเงินทุนไหลเข้าและท่องเที่ยวฟื้นตัว ปัจจัยฉุดคือเศรษฐกิจในประเทศถดถอย และเฟดขึ้นดอกเบี้ย"
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนธันวาคม 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 ธันวาคม 2566) พบว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 137.00 ปรับขึ้น 38.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" โดยนักลงทุนมองว่าการไหลเข้าของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และ การไหลออกของเงินทุน
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนธันวาคม 2566 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
"ผลสำรวจ ณ เดือนธันวาคม 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 29.4% อยู่ที่ระดับ 119.70 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 16.7% อยู่ที่ระดับ 100.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 17.9% อยู่ที่ระดับ 160.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 50.0% อยู่ที่ระดับ 150.00
SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปัจจัยบวกหลายประการ อาทิ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00% - 5.25% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ อีกทั้งแรงหนุนจากการเปิดขายกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายในเดือนธันวาคม 2566 ค่อนข้างบางเบาเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่วันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาส โดยปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ 39,980 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในเดือนธันวาคมประมาณ 70 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิรวมกว่า 192,083 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 SET Index ปิดที่ 1,415.85 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ และ ยุโรป จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดเร็วกว่าคาด และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง ทั้งสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด และผลการเลือกตั้งในไต้หวันในวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่จะเป็นจุดชี้ชะตาสำคัญต่อความเป็นไปได้ในการเกิดการสงครามระหว่างไต้หวัน-จีน ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์จากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2567 การฟื้นตัวของภาคการส่งออกจากแนวโน้มการค้าโลกที่มีการขยายตัวสูงขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังนักลงทุนจีนเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit