ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของโลกในยุคดิจิทัล เด็ก ๆ ทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมของโลกไซเบอร์ ทั้งในด้านของการศึกษา ความบันเทิง และการสื่อสาร ควบคู่กับการพึ่งพาเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นตามการคิดค้นนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ ๆ ที่ยังคงดึงดูดความสนใจของผู้ใช้ออนไลน์โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
สถาบันดีคิว (DQ Institute) รายงานผลการสำรวจดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI) ประจำปี 2566 พบว่าเด็กและวัยรุ่นอายุ 8-18 ปีทั่วโลกกว่า 70% กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ในช่วงปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยความเสี่ยงนี้ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ เด็กไทย 41% รายงานว่าถูกบูลลี่ออนไลน์ ในขณะที่ตัวเลขของเด็กในประเทศอื่น ๆ อยู่ที่ 39% และเพื่อเป็นการต้อนรับวันเด็กแห่งชาติที่จะมาถึงในวันที่ 13 มกราคมนี้ พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ จึงต้องการสร้างการตระหนักถึงความเสี่ยงที่กำลังคุกคามเด็กและเยาวชนในโลกออนไลน์ ที่ผู้ปกครองควรจะมีส่วนสำคัญในการดูแลเด็กๆ
จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ นายปิยะ จิตต์นิมิตร ผู้จัดการประจำประเทศไทย พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก ได้แบ่งปันแนวทางที่ควรปฏิบัติ และข้อที่พึงระวังในการดูแลลูกหลานของเราให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์ โดยแนวทาง 5 ประการที่ควรปฏิบัติได้แก่ การคิดใครครวญก่อนโพสต์หรือส่งข้อความให้กับผู้อื่น ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ทั้งหมดได้รับการปกป้องและอัพเดตซอฟต์แวร์ในเวอร์ชั่นล่าสุด การใช้รหัสผ่านที่มีความยาว ซับซ้อน และรัดกุม ผู้ปกครองควรระมัดระวังและชี้แนะให้เด็กติดต่อกับเพื่อนที่รู้จักในชีวิตจริงเท่านั้น และระมัดระวังเพื่อนจากไซเบอร์ที่ไม่ทราบที่มาชัดเจน รวมถึงให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ในบริเวณที่มองเห็นได้เท่านั้น
สำหรับข้อที่พึงระวัง และไม่ควรปฏิบัตินั้น นายปิยะ กล่าวว่า ผู้ปกครองควรกำชับเด็กไม่ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวกับผู้อื่น รวมถึงไม่เพิ่มเพื่อนหรือพูดคุยกับคนแปลกหน้า ระมัดระวังในการโพสต์ภาพหรือข้อความบนออนไลน์ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์อันดีของเด็ก รวมถึงไม่ควรอนุญาตให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี สร้างโปรไฟล์ตัวตนบนโลกออนไลน์อีกด้วย ทั้ง 4 ประการนี้เป็นสิ่งที่ควรระวังเพื่อปกป้องเด็กจากความเสี่ยงภัยบนโลกออนไลน์
นอกจากแนวทางปฏิบัติข้างต้นแล้ว ยังมีแหล่งข้อมูลมากมายที่ผู้ปกครองสามารถใช้เพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยทางออนไลน์ยกตัวอย่างเช่น หนังสือการ์ตูน CyberSafeKids จาก พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ คือการสื่อสารกับเด็กอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้ และสร้างวัฒนธรรมการเชื่อมต่อไซเบอร์ขึ้นในครอบครัว ซึ่งเป็นทางที่จะช่วยเหลือเด็กให้ปลอดภัยจากภัยบนไซเบอร์อย่างยั่งยืน
ในวันเด็กแห่งชาตินี้ ทุกฝ่ายควรร่วมกันต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของภัยทางไซเบอร์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องนี้ รวมถึงควรเตรียมความพร้อมด้วยความรู้และความมุ่งมั่นในการที่จะส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับคนรุ่นต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit