วว. จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขับเคลื่อนงานวิจัยอุตสาหกรรมชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์

23 Jan 2024

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการกับ รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 2 ปี เพื่อบูรณาการดำเนินงาน ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนางานวิจัยด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ พัฒนางานบริการอุตสาหกรรม ร่วมผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การต่อยอดใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาภาคเศรษฐกิจควบคู่กับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ในวันที่ 23 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี ในการนี้ ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. และ ผศ.ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายอุตสาหกรรมและภาคีความร่วมมือ มจธ. ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีคณะผู้บริหารและบุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีด้วย

วว. จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขับเคลื่อนงานวิจัยอุตสาหกรรมชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์

โอกาสนี้ คณะฯ มจธ. ได้เยี่ยมชมภารกิจ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) ในสังกัด ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบครบวงจร (Research and Development, Innovation and Manufacturing : RDIM) ประกอบด้วย นักวิจัยที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์โพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหาร มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นทาง (Upstream unit) ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการ ระดับสัตว์ทดลอง จนถึงการศึกษาในระดับมนุษย์ (Clinical trial) ถึงระดับปลายทาง (Downstream unit) มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานสากล ที่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถือเป็นสายการผลิตที่ครบวงจรเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญของ วว. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัด อว. คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ไปใช้สนับสนุน ส่งเสริม และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเชิงบูรณาการ ความร่วมมือกับ มจธ. ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรของ วว. มายาวนาน มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากรร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง การร่วมมืออย่างเป็นทางการจะทำให้ผลงานที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ในอุตสาหกรรมชีวภาพได้รับการยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ และได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และจะมีการขยายขอบข่ายงานไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป

"...ความเชื่อมั่นทางการค้าที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องมีผลงานวิชาการรองรับ และจะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีองค์ความรู้หรือวิชาการรองรับ จากการทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่ของ วว. ที่เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน เป็นผลงานซึ่งเป็นที่ประจักษ์และจำเป็นต้องมีพันธมิตรเข้ามาร่วมบูรณาการดำเนินงานให้มากขึ้น ความร่วมมือกับ มจธ. จะทำให้สามารถขยายผล ต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาสู่เชิงเศรษฐกิจได้รวดเร็วและจำนวนมากขึ้นตามความต้องการของตลาด เป็น Networking ร่วมกัน และนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม" ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า วว. และ มจธ. ดำเนินงานร่วมกันมากว่า 30 ปี บูรณาการดำเนินงานเป็นเครือข่ายพันธมิตรที่ชัดเจน ภายใต้กรอบความร่วมมือที่เป็นทางการครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมดำเนินการ คือ 1) พัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ มจธ. 2) การวิจัย/นวัตกรรม โดยจะเริ่มจาก BCG ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลและนำไปสู่สาขาอื่นๆ เช่น แพทย์แผนไทย ยา สมุนไพร และ 3 ) บูรณาการดำเนินงานภายใต้โครงการธัชวิทย์ ในการพัฒนาฐานข้อมูล แพลตฟอร์มเกี่ยวกับ วทน. ที่สอดคล้องกับนโยบาย อว. เป็นต้น

"...เราจะช่วยกันสร้าง Impact ให้กับประเทศ ทำให้ภาพการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของทั้งสองหน่วยงานจะสามารถตอบสนองภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี เป็น User-friendly ร่วมกัน ภายใต้หลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้" อธิการบดี มจธ. กล่าว

วว. จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขับเคลื่อนงานวิจัยอุตสาหกรรมชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์