"งูสวัด"..โรคอันตรายในผู้สูงอายุ

19 Jan 2024

"งูสวัด"..โรคอันตรายในผู้สูงอายุ

"งูสวัด"..โรคอันตรายในผู้สูงอายุ

มีใครรู้ไหม?..ว่า "งูสวัด" เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นตามอายุ และอาการปวดรวมถึงภาวะแทรกซ้อนในผู้สูงอายุก็มักจะรุนแรงและมีอาการยาวนานกว่าคนทั่วไปอีกด้วย...

"งูสวัด" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus : VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อร่างกายได้รับเชื้อชนิดนี้มาครั้งแรก จะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสบางส่วนจะไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาท เมื่อเราอายุมากขึ้น หรือร่างกายอ่อนแอลง เชื้อไวรัสจะออกมาจากปมประสาทและแสดงอาการของโรคงูสวัดออกมา

อาการของงูสวัดมี 3 ระยะ คือ

  • ระยะแรก จะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อย ปวดแสบปวดร้อนตามร่างกายบริเวณที่กำลังจะมีผื่นขึ้นเพราะเส้นประสาทเกิดการอักเสบ ในระยะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นงูสวัด บางคนจะรู้สึกเสียวแปล๊บๆ ตามผิวหนัง หรือปวดศีรษะอย่างมากบางคนคิดว่า ตัวเองเป็นไมเกรน ถ้าเป็นที่เส้นประสาทตา จะปวดตา ตาแดง ถ้าเป็นเส้นประสาทหูอาจจะปวดในรูหู จนกระทั่งมีผื่นออกมาเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2
  • ระยะที่ 2 ซึ่งจะมีผื่นและเป็นตุ่มแดงขึ้นก่อนและกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส
  • ระยะที่ 3 จะมีการเรียงตัวของผื่นตามแนวเส้นประสาท เส้นประสาทที่พบบ่อยจะเป็นบริเวณ ลำตัวข้างใดข้างหนึ่ง บริเวณใบหน้า เป็นต้น และโดยปกติของคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติจะเกิดจากโรคตามแนวเส้นประสาทเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น

โดยผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัดควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้หายจากโรคโดยเร็ว ซึ่งผื่นที่เกิดจากโรคงูสวัดสามารถหายเองได้ภายในสองสัปดาห์ แต่ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง ซึ่งอาจปวดได้อีก 3-12 เดือน

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง ยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนานขึ้น เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง มักจะมีอาการปวดลึกๆ ปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา อาจปวดแม้ถูกสัมผัสเพียงเบาๆ หรือหากเกิดขึ้นบริเวณดวงตา ผู้สูงอายุบางท่านอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนอาจทำให้ตาบอดได้ และยิ่งไปกว่านั้นหากเชื้องูสวัดแพร่กระจายออกนอกแนวเส้นประสาท เชื้อไวรัสอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคงูสวัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการรับการฉีดวัคซีนโรคงูสวัดเพื่อลดโอกาสการเกิดโรค ทั้งยังช่วยลดความรุนแรง ลดความปวด และช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนป้องกันและควรฉีดก่อนอายุ 60 ปี เพื่อให้ภูมิคุ้มกันดียิ่งขึ้น ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อโรคงูสวัดได้

นอกจากนี้การดูแลรักษาสุขภาพให้ดีด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดได้...

งูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ คลิกอ่าน >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1746

สายด่วนสุขภาพโทร. 0 2743 9999 ต่อ 2999Line Official : @ramhospital

"งูสวัด"..โรคอันตรายในผู้สูงอายุ
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit