ปวดศีรษะ อาการยอดฮิตของคนทุกช่วงวัย รักษาได้ด้วยแพทย์แผนจีน โดย คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

30 Jan 2024

"อาการปวดศีรษะ" เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากในทุกเพศทุกวัย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยการทานยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่บางกรณีอาจเป็นการปวดศีรษะแบบรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมองหรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งอาการปวดศีรษะแบบรุนแรงและไม่รุนแรงจะมีอาการที่แตกต่างกัน

ปวดศีรษะ อาการยอดฮิตของคนทุกช่วงวัย รักษาได้ด้วยแพทย์แผนจีน โดย คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
  1. อาการปวดศีรษะแบบรุนแรง จะมีลักษณะอาการ คือ ปวดเฉียบพลัน หรือปวดรุนแรง หรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือทานยาแต่ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตามัว ชาแขนขา คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะแบบรุนแรงจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เนื่องจากเป็นอาการปวดศีรษะเนื่องจากสิ่งผิดปกติทางสมอง
  2. อาการปวดศีรษะแบบไม่รุนแรง จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการลักษณะข้างต้น โดยอาการที่พบได้ทั่วไป เช่น
  • การปวดศีรษะจากความเครียด (Tension Type Headache) พบได้มากในทุกเพศทุกวัย จะมีลักษณะการปวดแบบตื้อ ๆ มึน ๆ เหมือนถูกบีบรัดบริเวณขมับ ซึ่งอาจเกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ เนื่องจากเครียด พักผ่อนน้อย หรือทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ อาการปวดเช่นนี้จะเป็นไม่มาก สามารถทานยาแก้ปวดและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการก็จะดีขึ้น
  • การปวดศีรษะไมเกรน พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ซึ่งจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ลักษณะการปวดแบบตุ้บ ๆ บริเวณขมับร้าวมาที่กระบอกตา หรือท้ายทอย มักปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากมีปัจจัยกระตุ้นจากอากาศร้อน ความเครียด กลิ่น การมีรอบเดือน เป็นต้น โดยจะปวดมากกว่าการปวดศีรษะจากความเครียด มักปวดตั้งแต่ 4 - 72 ชั่วโมง
  • การปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ (Cluster headache) พบได้บ่อยรองลงมากจากอาการอื่น ๆ ซึ่งจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ช่วงวัยกลางคนขึ้นไป ลักษณะการปวดเป็นชุด ๆ เวลาเดิม ๆ บริเวณรอบกระบอกตา ปวดมากกว่าอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยจะปวดระยะหนึ่ง ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วหายไป และอาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล และหนังตาตกร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทสมองคู่ที่ 5 และหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ

อาการปวดศีรษะในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ปวดศีรษะ เป็นอาการทางคลินิกที่พบได้บ่อย โดยอาการอาจพบเป็นอาการเดี่ยว ๆ หรือพบร่วมกับโรคเรื้อรังและโรคเฉียบพลันอื่น ๆ ซึ่งหากปวดศีรษะอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน โดยเกิดซ้ำ ๆ ไปมา ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน จะเรียกว่า "โถวเฟิง"

สาเหตุและกลไกการเกิดอาการปวดศีรษะ

ศีรษะ เป็น "ศูนย์รวมของหยาง" "ที่อยู่ของหยางบริสุทธิ์" เป็นศูนย์รวมของชี่และเลือดเนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนบน จัดว่าเป็นตำแหน่ง หยาง ซึ่งง่ายต่อการกระทบของลมและไฟ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นได้ สาเหตุการปวดศีรษะมีหลายประการ โดยมักเกี่ยวข้องกับสาเหตุหลัก คือ ปัจจัยเกิดจากภายนอกและภายใน 

ปัจจัยเกิดจากภายนอก

  • เกิดจากลมเป็นสาเหตุหลัก "ลมมักจะรุกรานส่วนบนของร่างกายก่อนเสมอ" มักมีความเย็น ความชื้น ความร้อนร่วมด้วย ขึ้นไปโจมตีทวารสมอง เส้นลมปราณถูกอุดกั้น ทำให้ปวดศีรษะ
  • ลักษณะอาการ กำเนิดโรคเร็ว ระยะเวลาสั้น ปวดรุนแรง มักเกิดเพราะเสียชี่ ซึ่งอาจเป็นลม ความเย็น ความชื้น ความร้อน ทำลายเว่ยชี่ของปอด

ปัจจัยเกิดจากภายใน

  • เกิดจากอารมณ์ อาหาร ความอ่อนแอของร่างกาย การเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น ทำให้หยางของตับทะยานขึ้นสูง ไตพร่อง เลือดพร่อง เสมหะขุ่น เลือดคั่ง ทำให้ปวดศีรษะ
  • ลักษณะอาการ การดำเนินโรคช้า ระยะเวลายาวนาน กำเริบซ้ำไปมา เดี๋ยวหนักเดี๋ยวเบา ต้องวิเคราะห์แยกแยะว่ามาจากชี่พร่อง เลือดพร่อง หยางตับ เสมหะความชื้น เลือดคั่ง

วิธีการรักษาหลักการรักษา คือ "ปรับสมดุลชี่และเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด" โดย "การฝังเข็ม"

หลักการเลือกจุดฝังเข็ม ดังนี้

  • จุดหลัก บริเวณศีรษะที่มีอาการปวด
  • จุดรอง บริเวณจุดไกลไล่ไปตามเส้นลมปราณ
  • จุดเสริม บริเวณจุดที่เป็นปัจจัยในการก่อโรค

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

อาการปวดศีรษะในปัจจุบันได้กลายเป็นโรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยมาก มีผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้น ไม่จำกัดเพศ และหลากหลายช่วงวัย หากคุณคือคนหนึ่งที่มีความทุกข์ทรมานกับอาการปวดศีรษะอยู่บ่อยครั้ง ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือปล่อยไว้จนเป็นอาการปวดเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา แต่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษา ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยมีงานวิจัยรองรับและองค์การอนามัยโลกให้รับรองว่า การฝังเข็ม เป็นการรักษาโรคปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

  • สอบถามข้อมูล หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่ "ทีมหมอจีน" คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว โทร 02 223 1111 
  • เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08:00 - 16:00 น.
  • LINE OA: @huachiewtcm
  • Facebook: หัวเฉียวแพทย์แผนจีนกรุงเทพ Huachiew TCM Clinic
  • Website: www.huachiewtcm.com