ธอส. คว้า 6 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566

31 Jan 2024

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES" ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในครั้งนี้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้นจำนวน 6 รางวัล ประกอบด้วย 1. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (เกียรติยศ) 2. รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น 3. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน 4. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรมดีเด่น 5. รางวัลบริการดีเด่น และ 6. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ชมเชย โดยมีนายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส. และคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ร่วมรับรางวัล

ธอส. คว้า 6 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 ที่ ธอส. ได้รับทั้ง 6 รางวัล นั้น นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของธอส. สะท้อนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานของ ธอส. กว่า 5,000 ชีวิต ที่ได้ดำเนินงานตามพันธกิจ "ทำให้คนไทยมีบ้าน" โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงถึง 253,860 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อลดความเหลือมล้ำทางสังคมสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 3.84% อีกทั้งยังบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ตามความเหมาะสมต่อเนื่องจากปี 2566 ตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงการคลัง และการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน "มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567" โดย ณ วันที่ 30 มกราคม 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 4,789 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 5,553.06 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อให้การบริการลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านระบบ GHB Digital Appraisal ยกระดับการให้บริการประเมินราคาทรัพย์ที่ลูกค้าประสงค์จะซื้อและมาขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อประมาณการวงเงินอนุมัติเบื้องต้นให้กับลูกค้าได้รวดเร็ว รวมถึงการยกระดับการให้บริการลงนามสัญญากู้เงิน โดยเพิ่มช่องทางการให้บริการลงนามสัญญากู้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ GHB e-Contract แทนการใช้กระดาษ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นำมาซึ่งรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 ทั้ง 6 รางวัล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (เกียรติยศ) เป็นรางวัลที่พิจารณาจากองค์กรที่มีคะแนนประเมินผลรัฐวิสาหกิจภาพรวม ปี 2565 สูงสุด 5 อันดับแรก และสามารถรักษามาตรฐานการดำเนินงานได้ดีอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารสามารถบริหารจัดการองค์กร สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธนาคารก้าวสู่การเติบโตได้อย่างยั่งยืน
  2. รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น มอบให้กับองค์กรที่ได้รับรางวัลบริหารจัดการองค์กรดีเด่น และมีคะแนนประเมินผลรัฐวิสาหกิจภาพรวม ปี 2565 ตั้งแต่ 4.5000 ขึ้นไป โดยในปี 2566 สคร. ได้พิจารณามอบรางวัลดังกล่าวให้แก่ นายฉัตรชัย ศิริไล อดีตกรรมการผู้จัดการ ธอส. โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานในช่วงที่บริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส. ซึ่งแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ และนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับการบริหารจัดการองค์กร เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารยั่งยืน
  3. รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจยั่งยืน ได้รับจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจที่นำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนจากผลลัพธ์ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  4. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรมดีเด่น จากโครงการ "Digital Loan Process" ที่ยกระดับกระบวนการสินเชื่อ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานแบบ End to End Process ตลอดเส้นทางการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) นับเป็นการปรับปรุงกระบวนการสินเชื่อให้มีความรวดเร็ว ทันสมัย ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถปรับตัวทันต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
  5. รางวัลบริการดีเด่น จากโครงการ "การบริการเพื่อทำให้คนไทยมีบ้าน และรักษาบ้านให้คนไทย" (Digital Housing Solution for All Thai) มุ่งเน้นการให้บริการด้านสินเชื่อที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าใหม่ และลูกค้าเดิมที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับและปรับเปลี่ยนคุณภาพการให้บริการ และการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ทั้งในมิติของ People Process และ Technology & Innovation ที่ครอบคลุมลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับกระบวนการให้บริการตลอด Value Chain ของธนาคาร อาทิ Application : GHB ALL GEN, GHB ALL BFRIEND และ GHB ALL HOME เป็นต้น
  6. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ชมเชย จากแนวคิดเรื่อง "ระบบการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อพลัส" ที่ ธอส. พัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการกลุ่มลูกค้าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) และลูกหนี้ NPL ผ่านระบบการวิเคราะห์ในเชิง Cognitive Analytics โดยใช้ Machine Learning ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อ และใช้หลักการของ ECRS (Eliminate, Combine, Rearrange and Simplify) เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน ลดความซ้ำซ้อน ตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้งานทั้งด้านคุณภาพข้อมูลและสารสนเทศ แม่นยำ เชื่อถือได้ และนำไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ สคร. ได้จัดให้มีงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นตั้งแต่ปี 2548 เพื่อประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ดีเด่นในด้านต่าง ๆ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ทำภารกิจสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โดยงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 จัดขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

HTML::image(