สปสช. ชูโรงพยาบาลบางปะอิน ต้นแบบโรงพยาบาลชุมชนที่สามารถยกระดับผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้ ชี้ช่วยลดภาระโรงพยาบาลจังหวัด ผู้ป่วยลดระยะเวลารอคิวผ่าตัด หวังโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพจนสามารถผ่าตัดข้อเข่าได้มากขึ้น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 4 สระบุรี เดินทางลงพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเยี่ยมชมการให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ของโรงพยาบาลบางปะอิน ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดในระดับโรงพยาบาลชุมชน อีกทั้งยังเป็น Node ให้กับโรงพยาบาลบางไทร และโรงพยาบาลวังน้อยในการรับส่งต่อผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ทำให้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลจังหวัด อีกทั้งช่วยลดระยะเวลารอคอยคิวผ่าตัดลงได้อีกหลายเดือน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อมส่งผลต่อการเดินและการใช้ชีวิตประจำวัน ในรายที่อาการรุนแรงจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่ง สปสช. ได้บรรจุการผ่าตัดข้อเข่าเทียมเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองครอบคลุมทั้งค่าผ่าตัดและค่าอุปกรณ์
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของโรงพยาบาลบางปะอินเป็นโรงพยาบาลชุมชน แต่สิ่งที่แปลกใหม่คือโรงพยาบาลนี้สามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้ จากเดิมที่อย่างน้อยต้องไปโรงพยาบาลจังหวัด ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากผู้บริหารและทีมงานมีความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพบริการ มีการดำเนินงานต่อเนื่องจนในปีงบประมาณ 2566 สามารถผ่าตัดได้กว่า 150 ราย หรือเฉลี่ยประมาณ 3 เคส/สัปดาห์ และในอนาคตเชื่อว่าโรงพยาบาลอำเภออีกหลายแห่งทั่วประเทศที่มีแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และหากมีผู้บริหารที่เห็นความสำคัญก็จะมีการพัฒนาศักยภาพจนสามารถผ่าตัดข้อเข่าได้
"อยากให้ที่นี่เป็นโมเดลให้โรงพยาบาลอื่นๆ จากข้อมูลของ สปสช. คาดการณ์ว่ามีผู้จำเป็นต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าปีละกว่า 60,000 คน แต่ทุกปีสามารถผ่าตัดได้เพียง 20,000 คน ส่วนอีก 40,000 คนยังไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นถ้าสามารถขยายการให้บริการในโรงพยาบาลอำเภอได้ จะทำให้ประชาชนอีกจำนวนมากได้ประโยชน์"นพ.จเด็จ กล่าว
ด้าน นพ.ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะอิน กล่าวว่า การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมเป็นบริการหนึ่งที่โรงพยาบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นเนื่องจากเห็นว่าประชาชนทั้งในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง มีปัญหากับโรคข้อเข่าเสื่อมอีกทั้งสถานบริการที่รองรับการรักษาได้ยังมีจำกัด ทำให้มีระยะเวลาการคอยการรักษาค่อนข้างนาน ซึ่งทางโรงพยาบาลบางปะอินเองมีความพร้อมทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทีมบุคลากรที่พร้อมร่วมกันพัฒนาโรงพยาบาลเพื่อดูแลประชาชน จึงยกระดับโรงพยาบาลชุมชนจากการดูแลโรคพื้นฐานทั่วไป มาดูแลโรคที่ซับซ้อนอย่างการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่และยังแบ่งเบาภาระของผู้ป่วยให้สะดวกในการรับบริการมากยิ่งขึ้น
"ในระยะแรกเราตั้งเป้าผ่าตัด 100 เข่า ในปีงบประมาณที่ผ่านมาก็เพิ่มเป็น 200 เข่า และในอนาคตความสามารถในการรองรับผู้ป่วยอยู่ที่ประมาณ 200-300 เข่า/ปี โดยมีระยะเวลารอคิวผ่าตัดประมาณ 4-6 เดือน ถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่รอคิวประมาณ 1-2 ปี"นพ.ฐาปกรณ์ กล่าว
นพ.จตุรงค์ บำรุงเชาว์เกษม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลบางปะอิน กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมจำนวนมาก และส่วนมากยังเข้าไม่ถึงบริการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หรือกำลังรอคิว ซึ่งบางรายอาจต้องรอเป็นปี ก็สามารถพิจารณาโรงพยาบาลบางปะอินเป็นทางเลือกในการรักษาได้ โรงพยาบาลยินดีดูแลทุกคน ทั้งในพื้นที่และจากต่างจังหวัด สามารถติดต่อทำนัดหมายเข้ามาตรวจได้เลย ขอให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยทุกคนว่าโรงพยาบาลบางปะอินยึดมั่นในมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน
สำหรับขั้นตอนการรับบริการนั้น จะเตรียมความพร้อมผู้ป่วย ตรวจสุขภาพ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ เพื่อดูว่าปลอดภัยต่อการผ่าตัดหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงสูงก็จะร่วมกับแพทย์หลายๆแผนกในการดูแล โดยเฉลี่ยใช้เวลาผ่าตัด 1 ชม.ต่อเข่า 1 ข้าง และ 1 วันหลังผ่าตัดก็สามารถเริ่มทำกายภาพบำบัดได้ ส่วนระยะเวลารอคิวผ่าตัดขั้นต่ำคือ 2 เดือน โดยแพทย์จะประเมินความเร่งด่วนของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย เช่น คนที่มีปัญหารุนแรงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ก็จะพิจารณารักษาเร่งด่วนกว่าคนที่ยังสามารถเคลื่อนไหวได้ เป็นต้น
ด้าน นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการที่โรงพยาบาลบางปะอินซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนสามารถจัดบริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสามารถทำผลงานได้ดี ทาง สสจ.พระนครศรีอยุทธยา และ สปสช. ตั้งใจผลักดันให้โรงพยาบาลบางปะอินเป็นต้นแบบการพัฒนาบริการที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ในโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ ตามความพร้อมของโรงพยาบาลนั้นๆ โดยมีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เข้ามาช่วยสร้างบริการ เช่น ร่วมกันเปิดห้องผ่าตัด หรือให้บริการเฉพาะทางในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้แก่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่ นางสาคร บุญยง อายุ 62 ปี จาก จ.นครสวรรค์ หนึ่งในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจากโรงพยาบาลบางปะอิน กล่าวว่า ตนมีอาชีพเกษตรกรรมและประสบปัญหาข้อเข่าเสื่อม ทำให้รู้สึกเจ็บปวดทรมานเวลาเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งในตอนแรกนั้นตนได้เข้ารับบริการกับโรงพยาบาลใน จ.นครสวรรค์ แต่พบว่าต้องรอคิวนานมาก ประกอบกับเห็นผ่าน Facebook ว่าโรงพยาบาลบางปะอินสามารถผ่าตัดได้ จึงให้ลูกชายและลูกสะใภ้พามารับบริการที่นี่ ซึ่งก็พบว่าได้รับความสะดวกรวดเร็ว รอคิวเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยทำการผ่าตัดเข่าทีละข้าง ล่าสุดผ่าตัดเข่าครั้งที่ 2 ไปเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ใช้เวลาเพียง 4 วันก็กลับบ้านได้แล้ว ปัจจุบันขาที่ผ่าตัดแล้วสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit