เอ็มเทค สวทช. ลงนามร่วม ส.อ.ท. จัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตฯ เหล็ก รองรับมาตรการ CBAM

09 Feb 2024

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย รศ.ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค ลงนามความร่วมมือการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อรองรับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ร่วมกับนายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวแสดงความยินดีในความร่วมมือในครั้งนี้ ณ ห้อง Passion (802) ชั้น 8 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เอ็มเทค สวทช. ลงนามร่วม ส.อ.ท. จัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตฯ เหล็ก รองรับมาตรการ CBAM

การลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินวัฏจักรชีวิต หรือ Life Cycle Assessment (LCA) ของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยประเมินจากข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อม หรือ Life Cycle Inventory (LCI) เก็บข้อมูลจริงจากโรงงาน (Field Collection) และใช้แบบจำลองในการศึกษาจากข้อมูลที่เก็บได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อเป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยทีมวิจัยและบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 7 โรงงาน ประกอบด้วยเหล็กแผ่น 4 โรงงาน ท่อเหล็ก 1 โรงงาน ลวดเหล็ก 1 โรงงานและเหล็กรูปพรรณ 1 โรงงาน ซึ่งจะร่วมกันศึกษารายการสารขาเข้าและสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิต เพื่อวิเคราะห์ส่วนที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาในแต่ละกระบวนการ อันเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ตลอดจนสามารถทราบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตรวมถึงผลพลอยได้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตในอนาคต ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ต่อไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ปัจจุบันนี้ แนวโน้มและทิศทางของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การบริหารจัดการต้นทุนในกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ "Green Steel" ที่จะต้องเน้นความยั่งยืน (Sustainability) พลังงานสะอาด (Green) และรักษ์โลก (Green) หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ มาตรการ CBAM (Carbon Boarder Adjustment Mechanism) ซึ่งทาง EU ได้ประกาศใช้แล้วช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปไปสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ในปี 2566 มีมูลค่า 2,466 ล้านบาท และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.3% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยผู้ประกอบการจะต้องหาแนวทางเพื่อปรับรูปแบบการผลิต การผลิต เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว

"สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมไทยยกระดับภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย ONE FTI จากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 76 จังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ส.อ.ท. มีการจัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Institute: CCI) เพื่อให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับ Carbon Footprint of Product (CFP) และ Carbon Footprint for Organization (CFO) นำเสนอความเห็นต่อภาครัฐเพื่อให้ประเทศไทยเตรียมความพร้อมต่อมาตรการสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ เช่น CBAM มีการจัดทำ FTIX แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ส.อ.ท. เห็นว่า หากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มีการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและการพัฒนาต่อยอดเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนา Green Products และฉลากสิ่งแวดล้อมต่อไป" นายเกรียงไกร กล่าว

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า "ภาพรวมของการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และสถานการณ์ของการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็กตามที่ทุกท่านทราบหรือรับรู้จากข่าวสารต่างๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตที่มุ่งสู่ Green Steel และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มเหล็กได้ตระหนักในความสำคัญและมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุนสมาชิกของกลุ่มเหล็กในการเตรียมความพร้อมขององค์กรและกระบวนการผลิตเหล็ก เพื่อรองรับการมุ่งสู่ Green and Circular Economy โดยเริ่มต้นจากการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยโครงการฯ ได้รับความสนใจจากสมาชิกของกลุ่มฯ เป็นอย่างมาก การจัดทำฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมเหล็ก แบบ Gate to Gate และ Cradle to Gate ที่เป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตเหล็กของไทย มีเป้าหมายการจัดทำฐานข้อมูลของผู้ประกอบการทั้งกลุ่มเหล็กทรงยาว (Long products) 2 ฐานข้อมูล และกลุ่มทรงแบน (Flat products) จำนวน 5 ฐานข้อมูล รวมทั้งสิ้น 7 ฐานข้อมูล"

รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า "เอ็มเทค มีพันธกิจในการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสังคม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ การดำเนินงานในการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมรองรับมาตรการ CBAM ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับวิเคราะห์ข้อมูล สร้างโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อันนำไปสู่แนวทางในการปรับปรุงการผลิตที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น"

ทั้งนี้ พิธีลงนามสัญญาร่วมวิจัยเป็นความร่วมมือในการจัดทำบัญชีรายการสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Inventory: LCI) ที่เป็นฐานข้อมูลแบบ Gate-to-Gate และ Cradle to gate ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก (พิจารณาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงาน) ประเมินข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อหน่วยของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และบริษัทที่เข้าร่วมต้องทำการร่วมเก็บข้อมูลการผลิตย้อนหลังจำนวน 12 เดือน เพื่อให้ได้ข้อมูลเฉลี่ยตามการผลิตจริง ซึ่งจะพิจารณาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงาน