อคม. เขต 8 อุดรธานี จัดประชุมระดมความเห็นผู้ให้บริการและผู้รับบริการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางมาตรการรองรับเพื่อแก้ปัญหา "Extra Billing" ใน 7 จังหวัดในพื้นที่เขต 8 เผยข้อมูล 3 ปี มีการร้องเรียน Extra Billing ในพื้นที่ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จำนวน 36 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการเรียกเก็บค่ายานอกบัญชี เครื่องมือแพทย์ อุบัติเหตุจากรถ รักษาภาวะฉุกเฉิน และโรคค่าใช้จ่ายสูง
เมื่อวันที่ 22 - 23 มกราคม 2567 - นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ ประธานคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) และประธานคณะทำงานกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขด้านการคุ้มครองสิทธิพื้นที่เขต 8 และ นพ.วุฒิไกร ศักดิ์สุรกานต์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.เขต 8) และประธานคณะทำงานรับฟังความคิดเห็น ร่วมเป็นประธานการประชุมเพื่อ "จัดทำแนวทางเก้ไขปัญหากรณีถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บในพื้นที่เขต 8 อุดรธานี" จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี (สปสช.เขต 8 อุดรธานี) ร่วมกับคณะอนุกรรมกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการพื้นที่เขต 8 (อคม.เขต 8 อุดรธานี)
ทั้งนี้ รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต8 อุดรธานี พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเกือบ 100 คน อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการทั้ง โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป และศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองในพื้นที่ 7 จังหวัดในพื้นที่เขต 8 ประกอบด้วย จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และ นครพนม ณ โรงแรมสยามแกนด์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
กรณีถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือ Extra Billing นี้ เป็นประเด็นจากที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการที่หน่วยบริการและถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายร้องเรียนมายัง สปสช. และสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาและได้มีมติให้ดำเนินการแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่สิทธิบัตรทองให้ความคุ้มครอง ซึ่งหน่วยบริการไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชนผู้ใช้สิทธิได้
นพ.ไพฑูรย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแนวทางการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อลดปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยที่หน่วยบริการไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บ หรือ Extra billing ในพื้นที่เขต 8 พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการต่อแนวทางมาตรฐานแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำกลไกคุ้มครองสิทธิของประชาชนกรณี Extra billing ในระดับพื้นที่ที่เข้มแข็ง และยังเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะผู้แทนองค์กรภาคประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนในเรื่องนี้
สำหรับปัญหาและสาเหตุกรณีประชาชนถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าบริการที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขต 8 จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 พบปัญหาการร้องเรียนกรณี Extra billing ในพื้นที่เขต 8 ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จำนวน 36 เรื่อง ในจำนวนนี้ได้มีการตรวจสอบพบว่า เป็นกรณีที่มีข้อมูลความจริง 27 เรื่อง (ร้อยละ 75) และเป็นกรณีที่ผู้ร้องเข้าใจผิด 9 เรื่อง (ร้อยละ 25) จากกรณีที่มีมูลความจริงนี้ ผู้ร้องได้รับเงินคืนร้อยละ 88.1 และยังไม่ได้รับเงินคืนอีกร้อยละ 11.1
าน นพ.วุฒิไกร กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อดูรายการบริการที่ถูกเรียกเก็บ Extra billing ส่วนใหญ่จะเป็น ค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ค่าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ การรักษาอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์กรณีไม่มี พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ การรักษาภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน สิทธิรักษาพยาบาลไม่ตรงตามจริงหรือสิทธิว่าง อาทิ การย้ายที่อยู่อาศัยไม่ย้ายสิทธิ รอเปลี่ยนสิทธิรักษา เป็นต้น และการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักที่หน่วยบริการเรียกเก็บ Extra billing มาจากความไม่รู้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการเบิกจ่ายของ สปสช. อันเนื่องมาจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ และการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินในระบบที่เปลี่ยนแปลงทุกปี ขณะที่ประชาชนบางส่วนเองยังขาดความรู้และความเข้าใจการใช้สิทธิที่ถูกต้อง ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
"ปัญหา Extra billing แม้ว่าในพื้นที่เขต 8 จะยังมีปัญหาไม่มากนัก แต่หากไม่แก้ไขปัญหาในระยะยาวอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นได้ จนส่งผลกระทบทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การจัดทำแนวทางลดปัญหา ขณะเดียวกันก็เป็นการทบทวนว่าทำอย่างไรให้หน่วยการสามารถเบิกจ่ายงบประมาณที่คุ้มทุนบริการ และไม่เป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายหน่วยบริการหลังการให้บริการประชาชน" นพ.วุฒิไกร กล่าว
ขณะที่ ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า กรณี Extra billing มีความเกี่ยวข้องกับส่วนต่างๆ ที่ปฏิบัติหน้างาน ที่ เมื่อประชาชนร้องเรียนมา ทาง สปสช. ได้พยายามแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจทั้งกับหน่วยบริการและประชาชนผู้รับบริการ เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ความผิดของหน่วยงานใดหรือของใคร เพียงแต่อาจยังไม่เข้าใจการใช้สิทธิ ซึ่งจากการรับฟังความเห็นในครั้งนี้ได้ทำให้เห็นแนวทางของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่ตรงจุดมากขึ้น เช่น การจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับต้นทุนบริการ การเพิ่มรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้ครอบคลุมการรักษา การขยายสิทธิประโยชน์อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อผู้ป่วย การจัดทำระบบการคุ้มครองสิทธิในพื้นที่ และเน้นทำการสื่อสารในหน่วยบริการและประชาชน เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit