เปิด 'พระนคร' ย่าน 'เก่าแก่' ที่ไม่มีวัน 'เก่าเก็บ' บ้านใหม่ของผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน Bangkok Design Week 2024

01 Feb 2024

หากนึกถึงย่าน 'พระนคร' ทั้งในสายตาของชาวไทยและชาวต่างชาติ ย่านเก่าแก่แห่งนี้คือจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ เมื่อมาเยือนกรุงเทพมหานคร ย่านเปี่ยมเสน่ห์มีสถานท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพระนอนที่วัดโพธิ์ พระบรมมหาราชวัง ร้านเจ๊ไฝ ผัดไทยประตูผี ไปจนถึงถนนข้าวสาร ย่านพระนครจึงเคลื่อนคล้อยจากย่านที่อยู่อาศัยไปเป็นย่านท่องเที่ยว ทว่าย่านกับพบปัญหาเจ้าบ้านเดิมและคนหาเช้ากินค่ำจำต้องย้ายออก ตึกเก่าที่ยังคงเค้าโครงความงามจึงถูกปิดร้างมากมาย เป็นที่มาที่ย่านพระนคร ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในย่านที่จัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 (BKKDW2024) โดยนับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ภายใต้แนวคิด 'คนเก่าอยู่ คนใหม่มา ของเก่าเก็บรักษา ของใหม่เติมเต็ม' ตลอดทั้ง 9 วันของการจัดเทศกาลฯ ระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2567 ย่านแห่งนี้จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น 'มิตร' ที่ทุกคนมาช่วยกัน บำรุงเมือง' ได้อย่างไร ในบทความนี้มีคำตอบ

เปิด 'พระนคร' ย่าน 'เก่าแก่' ที่ไม่มีวัน 'เก่าเก็บ' บ้านใหม่ของผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน Bangkok Design Week 2024

BKKDW2024 ในย่าน 'พระนคร' ที่รวม 'มิตร' มา 'บำรุงเมือง' ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ศูนย์มิตรเมือง หรือ Urban Ally ในฐานะ Co-Host ของโปรแกรมในย่านพระนครใน Bangkok Design Week 2024 จับมือกับ 'เจ้าบ้าน' ร่วมกันหาทางออกให้กับย่านเก่าที่ชาวไทยและชาวต่างชาติต่างหลงรัก ด้วยต้นทุน 3 ด้านของย่านพระนคร ทั้ง 'ต้นทุนทางวัฒนธรรม' ด้วยกาลเวลากว่า 240 ปี ประกอบร่างสร้างพระนครให้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีอาคารทรงคุณค่า และบรรยากาศเมืองเก่าเปี่ยมเสน่ห์ และ 'ต้นทุนทางโครงสร้างของเมือง' โดย Urban Ally เรียกว่าเป็น 'เมือง 15 นาที' เพราะมีทางเท้าและตรอกซอกซอยที่เดินเชื่อมโยงได้ มีสถานที่สำคัญต่าง ๆ มีทุกอย่างอยู่ในระยะเดินถึง ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วย 'ต้นทุนทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์' เนื่องจากย่านนี้เต็มไปด้วยตึกแถวน้อยใหญ่ ซึ่งถูกปล่อยว่างทิ้งร้างรอการพัฒนาอยู่มากมาย เหมาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเป็นพื้นที่ทำธุรกิจสร้างสรรค์

เมืองหัวดี: เมืองสร้างสรรค์ที่มีงานออกแบบเป็นแกน

ย่าน 'พระนคร' เริ่มเปลี่ยนไปเป็นเมืองธุรกิจปลายน้ำที่มีลักษณะซื้อมาขายไป ไม่ได้มีการออกแบบและการผลิตในพื้นที่ หากเป็นเช่นนี้ต่อไป อัตลักษณ์ที่มีจะค่อย ๆ เลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย แต่หากผนวกต้นทุนที่โดดเด่นทั้ง 3 ด้านของย่านพระนคร เข้ากับ 'ความคิดสร้างสรรค์' ก็จะช่วยพลิกฟื้นให้พระนครกลายเป็น 'เมืองหัวดี' ซึ่งหมายถึง เมืองที่มีงานออกแบบเป็นแกน เพื่อดึงดูดให้นักสร้างสรรค์อยากย้ายเข้ามาอยู่ในย่านนี้ เพื่อที่ในท้ายที่สุดแล้ว จากย่านธุรกิจปลายน้ำที่ซื้อมาขายไปและแหล่งท่องเที่ยวที่คนมาเยือนแล้วก็ไป พระนครจะแปรเปลี่ยนเป็นย่านสตาร์ทอัพที่มีธุรกิจด้านการออกแบบ และมีผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตในย่านมากขึ้น

'พันธมิตร' เพื่อพันธกิจ 'บำรุงเมือง'

พระนครเป็นย่านสำคัญที่มีผู้ใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่ข้าราชการ ชุมชนเก่าแก่ นักออกแบบ ผู้ประกอบการ ไปจนถึงนักท่องเที่ยว ในกระบวนการเปลี่ยนพระนครให้กลายเป็นเมืองหัวดี ตลอด 2 ปีของการจัดเทศกาลฯ ที่ผ่านมา ทาง Urban Ally จึงเป็นตัวกลางที่รวมทุกฝ่ายให้กลายมาเป็น 'พันธมิตร' ทั้งนักออกแบบที่มีอิสระในการออกแบบ ข้าราชการที่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเมือง และชุมชนที่มีส่วนร่วมในการบำรุงเมืองอันเป็นที่รักไปด้วยกัน

Bangkok Design Week 2024 จึงเป็นโอกาสดีที่คนทั่วไปจะได้สัมผัสผลงาน 'การบำรุงเมือง' ที่เหล่าพันธมิตรร่วมมือร่วมใจกันสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ผู้มาเยือนอาจไม่เคยได้สัมผัส และเปิดให้เห็นการทดลองใช้งานพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้ด้วยวิธีต่าง ๆ ผ่านโปรแกรมน่าสนใจ เช่น

  • สี่กั๊กเซฟโซน โดย Urban Ally การออกแบบ Safe Zone และป้ายบอกทาง บริเวณ สี่กั๊กเสาชิงช้า ที่จะช่วยแนะนำว่านอกจากสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้จักแล้ว ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจและจุดจัดงาน เทศกาลฯ โดยกิจกรรมนี้ต่อยอดมาจากโครงการ "เดินสบาย ปั่นปลอดภัย สัญจรทางเลือก เมืองสุขภาพดี" โดยมูลนิธิเดินปั่นจักรยาน ร่วมกับศูนย์มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • กำลังสร้างมองข้ามไปก่อน โดย Harid Thampacha โครงการปรับปรุงป้ายก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บริเวณแยกสามยอดถึงแยกประตูผี โดยใช้งานวาดแบบสถาปัตยกรรมเป็นภาพร้านรวงต่าง ๆ ในย่านพระนคร พร้อมคิวอาร์โค้ดระบุตำแหน่งแต่ละร้าน ให้ผู้สนใจได้ตามไปอุดหนุนกัน
  • ExperienceScape: The Legendary Scape โดย บมจ. แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), เอปสัน (ไทยแลนด์) ร่วมกับกลุ่มศิลปินแถวหน้าด้าน Moving Images ได้แก่ Kor.Bor.Vor, The Motion House, Yellaban Creative Media Studio, Yimsamer, Decide Kit และศิลปินชาวต่างชาติที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จาก Jeremy Oury (ฝรั่งเศส), The FOX (อินโดนีเซีย) และ Shakir (มาเลเซีย) มาร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ย่านพระนคร ผ่านการทำ Projection Mapping ฉายวิดีโอพร้อมแสง สี เสียง ตระการตาบนจอโปรเจ็กเตอร์ ณ สถานที่สำคัญของย่านพระนคร 4 แห่ง ได้แก่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ประปาแม้นศรี (หลังเก่า) สวนรมณีนาถ และป้อมมหากาฬ
  • พระนคร Audio Guide โดย The Contextual สนุกกับประสบการณ์เที่ยวชมพื้นที่จัดแสดงในย่านพระนครในอีกหนึ่งรูปแบบ ด้วยการเดินชมงานแบบไม่ต้องกางแผนที่ เพียงเงี่ยหูฟังแล้วเดินตามคำบอก ผ่าน 'การนำทางด้วยเสียง' หรือ Navigation Audio Guide ที่จะพาผู้เข้าร่วมงานไปสัมผัสมุมลับของย่านพระนคร พร้อมรับฟังข้อมูลแบบเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
  • People Pavilion โดย SP/N คือพื้นที่กึ่งสาธารณะในพื้นที่ของราชการ บริเวณคอร์ตกลางของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่สื่อถึงความเป็นเมือง 15 นาที ทั้งยังสะท้อนบทบาทของอาคารศาลาว่าการฯ ในอนาคต จากเดิมที่กรุงเทพมหานครมีแผนจะย้ายข้าราชการและศาลาว่าการฯ ไปอยู่ที่ดินแดงอย่างสมบูรณ์ งานนี้จึงเป็นหนึ่งในการตั้งคำถามว่าพื้นที่แห่งนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรได้บ้าง และที่จริงแล้วคนเมืองและและชุมชนต้องการสิ่งใดมากที่สุด

หมุดหมายใหม่ที่ Urban Ally ต้องการทำให้เกิดขึ้นได้จริงใน Bangkok Design Week 2024 คือการสร้างภาพจำใหม่ให้กับพระนคร และชี้ให้เห็นว่าย่านนี้ที่ไม่ได้มีเพียงวัดและวัง แต่เต็มไปด้วยพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน และคนทำงานสร้างสรรค์ ที่มาผนึกกำลังกันเติมเลือดใหม่ให้กับย่านสุดเก๋าวัย 240 ปี ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งนี้

"เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567" หรือ "Bangkok Design Week 2024" (BKKDW2024) ภายใต้ธีม 'Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี' ในพื้นที่ย่านพระนคร จัดตลอด 9 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ เวลา 11.00 - 22.00 น. เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินลงสถานีสามยอด

ชมโปรแกรมทั้งหมดของย่านพระนครได้ที่เว็บไซต์: https://www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49828 

ไม่พลาดทุกโปรแกรมที่สนใจของย่านพระนคร เพียงกดเพื่อบันทึกไว้ใน My Plan
ดูวิธีการใช้ My Plan และ Happining Map เพื่อบันทึกโปรแกรม: www.facebook.com/share/p/ZwaMZ2XT4itDYLMR/?mibextid=WC7FNe

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Website: www.bangkokdesignweek.com, Facebook/Instagram: bangkokdesignweek, Twitter: @BKKDesignWeek, Line: @bangkokdesignweek

HTML::image(