คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ประชุดนัดแรก เห็นชอบแนวทางสนับสนุน อปท. "ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น" ตาม ม. 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมตั้ง 2 คณะทำงานด้านกฎ ระเบียบ-สุขภาพชุมชน ด้านมหาดไทยรับพร้อมทำเต็มที่ สอดรับพันธกิจ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข"
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ประธานคณะอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบแนวทางสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ ตามที่ นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำกับดูแลกลุ่มภารกิจสนับสนุนการจัดระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นเสนอ
สำหรับแนวทางสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการกองทุนและค่าบริการสาธารณสุข อันได้แก่ 1. กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) 2. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) 3. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด (กองทุนฟื้นฟูจังหวัด) ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบคณะทำงานอีก 2 ชุด เพื่อจัดทำข้อเสนอดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของอนุกรรมการฯ ได้แก่ 1. คณะทำงานด้านกฎ ระเบียบ กฎหมาย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธานคณะทำงาน และ 2. คณะทำงานด้านสุขภาพชุมชนและวิชาการ โดยมี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เป็นประธานคณะทำงาน
นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า หน้าที่หนึ่งของ มท. คือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และดูแลประชาชนตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉะนั้นจึงอยากจะขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของประชาชน ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่ง มท. จะทำเต็มที่
"ที่ผ่านมากรมการปกครองก็ช่วยเก็บข้อมูลครัวเรือนของประชาชน ทั้งปัญหาสุขภาพ และปัญหาความเดือนร้อนในด้านต่างๆ ตรงนี้จะเป็นอีกส่วนที่อยากให้บอร์ดชุดนี้ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจจะโยงกับฐานข้อมูลเพื่อใช้ในงานสุขภาพได้" นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ด้าน นพ.เติมชัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ เป็นไปตามคำสั่งแต่งตั้งจากบอร์ด สปสช. ในการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 เพื่อสนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดำเนินงาน และบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
อย่างไรก็ดี สำหรับอำนาจและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ได้แก่ 1. จัดทำหรือทบทวนกฎ การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ อปท. เป็นผู้ดำเนินงานบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ เสนอต่อบอร์ด สปสช. 2. สนับสนุน และประสาน อปท. ในการดำเนินงาน และบริการระบบหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นฯ สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม ให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานและบริหารจัดการเงินกองทุนในระดับท้องถิ่นฯ ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น
3. จัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ เพื่อเสนอต่อบอร์ด สปสช. 4. ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ และจัดทำข้อเสนอการพัฒนาที่ต่อเนื่อง 5. แต่งตั้งคณะทำงานตามความจำเป็น และเหมาะสมสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นข้อ 1-4 และ 6. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ บอร์ด สปสช. มอบหมาย
นพ.เติมชัย กล่าวว่า การดำเนินการตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ นั้น ที่ผ่านมา มีการก็ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการ และบริหารจัดการกองทุนและค่าบริการสาธารณสุข ได้แก่ 1. กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่สำหรับเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 2. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (LTC) สำหรับพื้นที่เทศบาล และ อบต. และ 3. กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสำหรับผู้พิการ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่ดูแลโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
"ที่ผ่านมามีคณะทำงานที่ดูแลที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาดูแลกองทุนอยู่แล้ว แต่การจัดตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม ม. 47 จะมีบทบาท และหน้าที่ในการสนับสนุนที่ชัดเจนขึ้น" นพ.เติมชัย ระบุ
อนึ่ง ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนฯ ยังได้มีมติเห็นชอบ และมอบให้คณะทำงานแก้ไขปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการการตามประกาศ บอร์ด สปสช. เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินงาน และบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ กทม. พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit