นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 รวมถึงคุมเข้มแหล่งกำเนิดมลพิษว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 และมีมาตรการเชิงรุกในการรับมือและแก้ไขปัญหา เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สะสมในช่วงฤดูหนาว-ฤดูร้อนที่สภาพอากาศแห้งและอาจทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศเพิ่มขึ้น โดยได้ดำเนินการตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างเข้มงวด ตรวจจับควันดำจากต้นตอ การตรวจควันดำริมเส้นทางจราจร การติดตามเฝ้าระวังจุดความร้อนผ่านเว็บไซต์ GISTDA รวมถึงกวดขันควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิด ตามแผนลดฝุ่น PM2.5 เพื่อให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการเกษตรได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ พร้อมรณรงค์เน้นย้ำสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในการเพาะปลูก ส่งเสริมการนำตอซังฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ ใช้จุลินทรีย์หมักย่อยสลายตอซังแทนการเผา ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสานขอความร่วมมืองดการเผาในที่โล่งในพื้นที่ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง เตรียมความพร้อมติดตามสถานการณ์และรับมือกับพื้นที่เสี่ยงการเผาภาคการเกษตรในพื้นที่เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง และเขตบางเขน จำนวน 18 จุด
นอกจากนี้ กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจวัดควันดำรถบรรทุกขนาดใหญ่บริเวณท่าเรือคลองเตย ซึ่งมีรถบรรทุกเข้าออกจำนวนมาก เพื่อควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันให้บริการตรวจบำรุงรักษารถยนต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลดราคาอะไหล่ น้ำมันเครื่อง ไส้กรอง เป็นต้น ในช่วงที่มีค่าฝุ่นละอองสูงระหว่างเดือน พ.ย.66 - เม.ย.67 เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองจากยานพาหนะ รวมถึงดำเนินมาตรการอื่น ๆ ได้แก่ การล้างและดูดฝุ่นบนถนน การล้างต้นไม้ใบไม้ทุกวัน เพื่อดักจับฝุ่นละออง การรวบรวมข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศให้เป็นปัจจุบัน ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ตามสถานการณ์ฝุ่นแต่ละระดับอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำการสื่อสารเชิงรุก รายงานสถานการณ์ฝุ่น พร้อมค่าพยากรณ์แจ้งเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com FB : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร FB : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม FB : กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสาเหตุการเกิดฝุ่นละอองและมีส่วนร่วมลดปัญหา และทราบถึงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเมื่อพบเห็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit