กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. นำโดย ดร.ตันติมา กำลัง นักวิจัยอาวุโส และดร.ธนภักษ์ อินยอด นักวิจัย พร้อมคณะ จัดแสดงผลงานวิจัยพัฒนา "การขยายชีวภัณฑ์ด้วยถังขยายจุลินทรีย์ระดับชุมชน" และการเพาะเลี้ยงเห็ดเชิงพาณิชย์ ในธีม "ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต" เนื่องในงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field day) ประจำปีงบประมาณ 2567 และวันสาธิตการใช้นวัตกรรมและภูมิปัญญา เปลี่ยนฟางข้าวเป็นทอง สู่เมืองปทุมธานีไร้ควัน ซึ่ง สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี เครือข่ายพันธมิตรของ วว. จัดขึ้น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ณ แปลงนาสาธิด หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มตันการผลิตโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและภูมิบัญญาที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในการวางแผนการผลิต การเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ การลดความเสี่ยงของผลผลิต การเชื่อมโยงเครือข่ายและการบริหารจัดการ การตลาด รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบาย "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ วว. ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรจังหวัดปทุมธานีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน อาทิ การส่งเสริมการปลูกกล้วยต้นเตี้ย ถังขยายชีวภัณฑ์ชุมชน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุทางการเกษตร และการสร้างนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานของ วว. งานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร เป็นกลไกขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับจังหวัด ให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การใช้ประโยชน์สารชีวภัณฑ์เป็นการยกระดับผลิตผลทางการเกษตรและรองรับนโยบายของรัฐบาล เพื่อมุ่งสู่ระบบการผลิตพืชปลอดภัย และระบบการผลิตพืชอินทรีย์ ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ลดการตกค้างของสารเคมีในพืชผลการเกษตร ปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไทย
วว. มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยพัฒนาและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านชีวภัณฑ์ คือ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ ICPIM 2 ที่มีสายการผลิตชีวภัณฑ์ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย รูปแบบของชีวภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตโดยโรงงาน ICPIM 2 มีจำนวน 3 รูปแบบ คือ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อน้ำ และหัวเชื้อผง ในส่วนของบรรจุภัณฑ์มี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ มีกำลังการผลิตรวมต่อปีมากถึง 115,000 ลิตร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit